งานประจำปี ประเพณีแข่งเรือยาว อำเภอสตึก

                ประเพณีแข่งเรือยาวเป็นงานประเพณีประจำปี กำหนดจัดในวันเสาร์ และอาทิตย์ แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นฤดูน้ำหลากในลำน้ำมูล ชาวเรือบุรีรัมย์และจากจังหวัดต่าง ๆ มาร่วมชุมนุมประลองฝีพายที่สนามแข่งเรือ หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก เพื่อแข่งขันความเป็นเจ้ายุทธจักรแห่งลำน้ำมูล ในแต่ละปีมีจำนวน เรือเข้าแข่งไม่น้อยกว่า 40-50 ลำ ชิงความเป็นหนึ่งแห่งสายน้ำมูลแห่งอีสานใต้ ณ ลำน้ำมูล สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ประเพณีแข่งเรือยาว ที่สนามแห่งนี้ เดิมเป็นประเพณีท้องถิ่นสังสรรค์กัน ในหมู่ญาติมิตร และสักการะเจ้าพ่อวังกรูด ซึ่งเป็นชื่อวังน้ำวนช่วงหนึ่งของแม่น้ำมูล เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้านในแถบบริเวณแม่น้ำมูล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 ชาวอำเภอสตึก อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำมูลซึ่งมีเรือเป็นพาหนะสัญจร และเป็นการคมนาคมที่สำคัญที่สุดในด้านการทำการเกษตรกรรม ธุรกิจการค้า รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงมีความผูกพันกับสายน้ำแห่งชีวิตนี้ หลังฤดูการทำนา ชาวบ้านจะนำเรือมาแข่งขันกัน เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี เรื่อยมาจนปัจจุบัน

การแข่งขันเรือแต่ละประเภท อาทิ การแข่งขันเรือไม้ขนาดใหญ่ ไม่เกิน 55 ฝีพาย ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การแข่งขันเรือไม้ขนาดกลาง ไม่เกิน 40 ฝีพาย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแข่งขันเรือไม้ขนาดเล็ก ไม่เกิน 30 ฝีพาย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี การแข่งขันเรือท้องถิ่น ไม่เกิน 36 ฝีพาย ชิงถ้วยเกียรติยศ ประมาณ 5 วัน ก่อนมีการแข่งเรือยาว จะมีการประกวดแต่ละเภท ไม่ว่าจะเป็น นางสาวไทย ประเภท1 ประเภท2 และการประกวดอื่นๆอีกมากมายหลายอย่าง ก่อนวันรุ่งขึ้นที่จะมีการแข่งขันเรือยาว จะมีการบวงสรวงเรือก่อน ในช่วงเวลา 17.00 น. จะชมพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อวังกรูดสตึก และนมัสการ “พระพุทธปฏิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎร์นิมิตมุนินทร์” พร้อม ข้าราชการ, นักเรียน, ประชาชน และชาวเรือกว่า 100 ลำ โดยอัญเชิญเทวดา และอ่านโองการที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงบูชา มีขบวนอันเชิญถ้วยพระราชทานฯ รอบเมืองสตึก

ตอนเช้าจะมีขบวนพาเหรดช้าง มากกว่า50 เชือก ขบวนเรือตกแต่งแฟนซีงดงาม และมีการแข่งช้างว่ายน้ำแบบยกทีมระหว่าง ทีมช้างจังหวัดบุรีรัมย์ (ถิ่นภูเขาไฟ) พบทีมช้างจังหวัดสุรินทร์ (ถิ่นเมืองช้าง) ส่วนไฮไลต์ที่สำคัญ และสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะให้ประชานชนมากที่สุดคือ เป็นการแข่งเรือประมงพื้นบ้านนั่ง 2 ฝีพายกว่า 100 การแข่งเรือประมงพื้นบ้านนั้น เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และชุมชนชาวลุ่มน้ำมูล การแข่งเรือมี3 ประเภท คือ ประเภทเรือไม้ ก.(ไม่เกิน 55 ฝีพาย) ประเภท เรือไม้ ข. (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) มีจำนวน 8 ลำ และประเภทเรือโลหะ (เรือท้องถิ่นไม่เกิน 36 ฝีพาย ) 16 ลำ นอกจากนี้แล้ว ยังมีของขายอีกมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ ของเล่นมากมายหลากหลายชนิด ส่วนในตอนกลางคืนนั้นจะมีคออนเสิร์ตให้ชมกันอย่างสนุกสนาน

Tags:

อื่นๆ

เมนู