วรภาศ ศรีพรหม
วิถีชีวิตแบบไทย คงไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม ถือเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ระดับจังหวัด เป็นศูนย์งานทอผ้าประเภทต่างๆ มีตั้งแต่งานทอผ้าไหม ผ้าสไบ ผ้าถุงไหมมัดหมี่ ผ้าโสร่งผ้าแพร เครื่องประดับศิราภรณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย
บ้านหนองเกาะตั้งอยู่ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนที่ตั้งขึ้นมาแล้วมากกว่า 100 ปี ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองเกาะ บ้านหนองเกาะพัฒนา บ้านหนองเกาะแก้ว สำหรับประชากรทั้งหมดของบ้านหนองเกาะ 697 คน แบ่งออกเป็นชาย 374 คน หญิง 323 คน ครั้งนี้ขอพูดถึงอาชีพอีกอาชีพหนึ่งคือ การผลิตเครื่องประดับศิราภรณ์ซึ่งต่อยอดมาจากงานทอผ้านั้นเอง
เครื่องประดับศิราภรณ์มาจากคำว่า “ศีรษะ” และ “อาภรณ์” หมายความถึงเครื่องประดับสำหรับใช้สวมใส่ศีรษะเช่น ชฎามงกุฎ ซึ่งเป็นชื่อเรียกเครื่องประดับศีรษะละครตัวพระ ที่มีวิวัฒนาการมาจากการโพกผ้าของพวกชฏิล ชฏาที่ใช้ในการแสดงโขนละครในปัจจุบัน ช่างผู้ชำนาญงานมักจะนิยมทำเป็นแบบมีเกี้ยว 2 ชั้น มีกรอบหน้า กรรเจียกจร ติดดอกไม้ทัด ดอกไม้ร้าน ประดับตามชั้นเชิงบาตร ซึ่งลักษณะของชฏานี้ เป็นการจำลองรูปแบบมาจากพระชฏาของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์นอกจากชฏามงกุฏแล้ว ยังมีชฎายอดชัยที่เป็นชฏามียอดแหลมตรง มีลูกแก้ว 2 ชั้นประดับ เป็นชฏาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการแสดงโขน และละคร ซึ่งที่มาของชฏายอดชัยนั้น สันนิษฐานว่าเป็นการสร้างเลียนแบบพระชฏายอดชัยที่เป็นเครื่องทรงต้น ในรูปแบบและทรวดทรง มีความแตกต่างกันที่วัสดุและรายละเอียดในการตกแต่งเท่านั้น รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว กรอบพักตร์หรือกระบังหน้า หรือแม้แต่หัวโขน ก็จัดอยู่ในประเภทเครื่องศิราภรณ์เช่นกัน และทางบ้านหนองเกาะจึงได้สร้างอาชีพนี้ขึ้นมาอีกอาชีพหนึ่ง คือ งานผลิตเครื่องประดับศิราภรณ์ขึ้นมาจำหน่าย
อัตลักษณ์ของชุมชนนอกจากการทอผ้าแล้ว ยังมี งานประดิษฐ์เครื่องประดับศิราภรณ์อันเลื่องชื่อของหมู่บ้านหนองเกาะ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่ม ตลอดจนสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกอีกด้วย โดยภาพรวมแล้วชุมชนบ้านหนองเกาะนั้น มีศักยภาพในการพัฒนาหลายด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์ผ้าสไบ ผ้าขาวม้า เครื่องประดับศิราภรณ์ สภาพภูมิทัศน์ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ปัญหาผู้สูงอายุ ปัญหาความยากจน ปัญหารายได้ของครัวเรือนและภาระหนี้สิน ทำให้เกิดการออกไป ทำงานต่างถิ่น รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือน และชุมชนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็ทำให้ได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไป วิเคราะห์ เพื่อวางแผนการพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นต่อไป
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |