นางสาวศศิวลัย บุลาลม ประเภท ประชาชน
หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01
ความยากลำบากในการใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 นอกจากจะส่งผลโดยตรงในด้านสุขภาพแล้วยังส่งผลในด้านอื่น ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมในการดำเนินชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง ด้านการศึกษาทั้งการเลื่อนการเปิด-ปิดภาคเรียน การปิดสถานศึกษา ด้านเศรษฐกิจ เช่น การงดการนำเข้าส่งออกสินค้า การปิดสถานประกอบการ ซึ่งทำให้แรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้าง คนตกงาน และไม่มีรายได้มากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงเห็นความสำคัญของผลกระทบดังกล่าว จึงมีโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบรูณาการขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อรองรับผู้ว่างงานอันเนื่องจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าให้มีงานทำภายใต้ภารกิจของหน่วยงานซึ่งตำแหน่งที่ได้เปิดรับสมัครคือตำแหน่งประชาชน บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา โดยลักษณะงานคือการสำรวจข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนและจัดทำข้อมูลเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ดิฉันนางสาวศศิวลัย บุลาลม เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ในนามของประชาชน โดยในการเข้ามาทำงานจะอยู่ภายใต้การดูแลของคณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตร การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01 เป็นระยะเวลาทั้งหมด 11 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป้าหมายในเดือนแรกของโครงการคือการสำรวจข้อมูลพื้นฐานปัญหาและความต้องการภายในตำบลเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์และพัฒนาพื้นที่ในเดือนต่อไป ซึ่งการสำรวจจะใช้วิธีการสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอำเภอ เทศบาล ไปจนถึงการสัมภาษณ์เชิงลึกจากทางผู้นำหมู่บ้านและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยจากการสำรวจพบว่า ตำบลบ้านด่านมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดบุรีรัมย์อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 20 กิโลเมตรออกไปทาง อำเภอสตึก มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 20 หมู่บ้าน ประชากรโดยรวมประมาณ 12,000 คน ข้อมูลสภาพสังคม ด้านการศึกษามีโรงเรียนประถมศึกษา 5 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษา 1 แห่ง ด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาล 1 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 1 แห่ง ด้านการไฟฟ้าประชากรมีไฟฟ้าใช้ 100% ด้านปะปา เทศบาลตำบลบ้านด่านผลิตน้ำประปาเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนในเขตตำบล ด้านระบบเศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประกอบด้วย ข้าว 88.14% อ้อย 8.81% มันสำปะหลัง 1.20% ยางพารา 1.85% ด้านการประมงเป็นการทำประมงพื้นบ้าน โดยอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลคือ วัดกระดึงทอง วัดระหาร วัดอริยวงศา และวัดบ้านตะโคง นอกจากนี้ยังมีสินค้าพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของตำบลคือ น้ำพริกปลาร้าด่านช้าง และผลิตภัณฑ์แกะสลักจากไม้ไผ่ สำหรับปัญหาที่พบ คือ มีประชาชนผู้ทุกข์ยาก ขาดแคลน ไร้ที่พึ่งพิง คนชรา คนพิการ ผู้ยากไร้ คิดเป็น 20% จากประชากรทั้งหมด นอกจากนี้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับประชาชนในพื้นที่พบว่ามีผู้ว่างงานไม่มีรายได้ หรือการพบปัญหาประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายและมีหนี้สิ้นจำนวนมาก ซึ่งเบื้องต้นได้มีหน่วยงานสังคมสงเคราะห์และกองสวัสดิการสังคมเข้ามาแก้ปัญหาในด้านเงินช่วยเหลือหรือการจัดโครงการแนะนำอาชีพเบื้องต้นแล้ว แต่จากการสอบถามข้อมูลเชิงลึกกับประชาชนในพื้นที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะได้รับคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านอื่น ๆ เช่น การอบรมเรื่องการประกอบอาชีพ การอบรมเรื่องการทำการเกษตร การทำขนม เป็นต้น
จากผลการปฏิบัติงานในเดือนกุมภาพันธ์ที่ได้ทำการสำรวจข้อมูลพื้นฐานปัญหาและความต้องการของชุมชนทางกลุ่มผู้ดำเนินงานจะนำประเด็นข้อมูลปัญหาที่ได้มาใช้ในการวิเคราะห์ในเดือนถัดไป เพื่อหาแนวทางการพัฒนาจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเพื่อให้ตำบลบ้านด่านเป็นตำบลที่มุ่งสู่ความยั่งยืนต่อไป