ข้าพเจ้า นางสาวสุนิษา แก้วสีแสง ประเภทบัณฑิต ตำบลกระสัง
หลักสูตร ID 10 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีส่วนร่วมของชุมชุน ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

ในเดือนมิถุนายน ข้าพเจ้าและทีมงานได้มีการจัดอบรมกิจกรรมภายใต้หัวข้อ“การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างต้นแบบเพื่อพัฒนาหรือยกระดับสินค้า/ผลิตภัณฑ์ (กลุ่มสบู่สมุนไพร)”โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม อาจารย์ ดร.ธวัชระพงษ์ วงศ์สกุล และวิทยากร อาจารย์วิชัย เกษอรุณศรี เข้าร่วมกิจกรรมในวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2564 ณ ศาลากลางหมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านกระสัง ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านในชุมชนให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรม

 

ในกิจกรรมอบรมครั้งนี้มีหัวข้อหลักในการอบรมทั้งหมด 3 หัวข้อดังนี้

1.รูปร่าง/รูปทรง ของสบู่สมุนไพร

2.บรรจุภัณฑ์

3.ตราสินค้า

ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ได้มีการระดมความคิด และให้ชาวบ้านแสดงความคิดใน 3 หัวข้อหลัก ดังต่อไปนี้

1.รูปร่าง/รูปทรง ของสบู่สมุนไพร

ในเรื่องของรูปทรงของสบู่ ปัจจุบันชาวบ้านใช้แม่พิมพ์สบู่รูปทรงเดียว ซึ่งไม่มีความแตกต่างและพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งชาวบ้านมีความต้องการให้รูปร่างของสบู่มีความน่าสนใจและน่าจดจำ ได้มีการนำชาวบ้านปั้นดินน้ำมันเพื่อเป็นรูปร่างต้นแบบสบู่ โดยในการเสนอความคิดเห็นครั้งนี้ได้เสนอให้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมรูปนูนขึ้นมาเป็นใบกัญชา และรูปผ่าครึ่งซีกของลูกมะสัง

   

เกร็ดความรู้

มะสัง”

ชื่อสมุนไพร มะสัง
ชื่ออื่นๆ หมากกะสัง (กลาง) กะสัง (ใต้) หมากสัง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Feroniella lucida (Scheff.) Swingle

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
         ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร แผ่กิ่งก้านจำนวนมาก ตั้งฉากกับลำต้นออกเป็นทรงพุ่ม ลำต้นและกิ่งก้าน มีหนามแหลมยาว แข็ง ประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว หรือสองชั้น ออกเวียนเป็นเกลียวตามกิ่ง ใบอ่อนออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ตรงปลายมีใบยอดเพียงใบเดียว ใบกลมรี ขอบใบเว้าเข้าหาเส้นกลางใบ ดูคล้ายก้างปลา มี 3-5 แฉก แผ่นใบโค้งขึ้นด้านบนเล็กน้อย สีเขียวเข้ม เป็นมันวาว ความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ฐานใบแหลม มน หรือกลม ตามผิวใบมีต่อมน้ำมัน ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงที่ซอกใบ คล้ายดอกกระถิน เป็นปุยๆ มีสีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมี 5-6 กลีบ เกสรเพศผู้มี 10-12 อันแยกกัน เกสรเพศเมียมี 1 อัน ผลสีเขียวคล้ายผลมะนาว รูปกลม มีขนาดประมาณ 2.5 นิ้ว เมื่อแก่จัดสีน้ำตาล เปลือกแข็งและหนามาก มีเมล็ดจำนวนมาก ผลมีรสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวได้ ยอดอ่อน และใบอ่อนกินสด หรือนำไปปิ้งไฟให้หอม เป็นผักได้ พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ 
ตำรายาพื้นบ้านอุบลราชธานี  ใช้  แก่น รวมกับแก่นมะขาม ใช้ต้มน้ำดื่มขณะอยู่ไฟ
ตำรายาไทย  ใช้  ราก ต้มน้ำดื่ม หรือฝนน้ำกิน แก้ไข้ ผลอ่อน แก้ไข้ ใบ แก้ท้องอืดเฟ้อ ใบ รสฝาดมัน บำรุงร่างกาย สมานบาดแผล แก้ท้องเดิน (ที่มา:http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=96)

2.บรรจุภัณฑ์

ในส่วนของบรรจุภัณฑ์นั้น ชาวบ้านจะห่อพลาสติก ไม่มีกล่องบรรจุสบู่ จึงต้องระดมความคิด ซึ่งมีการเสนอความคิดในหลายๆแบบ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนหาข้อมูลกล่องกระดาษที่ใส่สบู่ และออกแบบกล่องใส่ให้เป็นที่น่าสนใจและสามารถขายได้ในราคาสูง

เกร็ดความรู้

การบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

การบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการตลาด โดยเฉพาะปัจจุบันที่การผลิตสินค้า หรือบริการได้เน้นหรือให้ความสำคัญกับผู้บริโภค (Consumer Oriented) และจะได้เห็นว่าการบรรจุภัณฑ์มีบทบาทมากขึ้นเพราะลำพังตัวสินค้าเองไม่มีนวัตกรรม (Innovation) หรือการพัฒนาอะไรใหม่อีกแล้ว ฉีกแนวไม่ออกเพราะได้มีการวิจัยพัฒนากันมานานจนถึงขั้นสุดยอดแล้ว จึงต้องมาเน้นกันที่บรรจุภัณฑ์กับการบรรจุหีบห่อ (Packaging) บรรจุภัณฑ์กับหีบห่อ (Package) ถือว่าเป็นคำคำเดียวกัน ทั้งนี้สุดแล้วแต่ผู้ใดประสงค์หรือชอบที่จะใช้คำใด

นอกจากนี้ยังมีคำอีก 2 คำ ที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ คือ

  • การบรรจุภัณฑ์ (Packing) หมายถึง วิธีการบรรจุผลิตภัณฑ์ โดยการห่อหุ้ม หรือใส่ลงในบรรจุภัณฑ์ปิด หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ปลอดภัย
  • ตู้ขนส่งสินค้า (Container) หมายถึง ตู้ขนาดใหญ่ที่ใช้ขนส่งสินค้า ซึ่งมีขนาดและรูปแบบแตกต่างกันตามวิธีการขนส่ง (ทางเรือหรือทางอากาศ) โดยทั่วไปจะมีขนาดมาตรฐานเป็นสากล คำว่า “Container” นี้อาจใช้ในความหมายที่ใส่ของเพื่อการขนส่งและจัดจำหน่าย ในปัจจุบันวัตถุประสงค์หลักของบรรจุภัณฑ์ (Objectives of Package) คือ
  • เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ (To Protect Products)
  • เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (To Distribute Products)
  • เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ (To Promote Products)                                          (ที่มา:http://www.thaipurchasing.com)

3.ตราสินค้า

ในส่วนของตราสินค้านั้น ชาวบ้านใช้ชื่อสินค้าว่า “สบู่สมุนไพรบ้านกระสัง” ซึ่งชื่อที่ใช้เป็นชื่อที่ใช้ในการขายผลิตภัณฑ์เท่านั้น ยังไม่มีการจดแจ้งชื่ออย่างเป็นทางการ ในการอบรมครั้งนี้ได้มีการเสนอชื่อ คือ กะสัง และ มะสัง ที่เป็นจุดเด่นของชุมชน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนพิจารณาต่อไป

 

เกร็ดความรู้

ตราสินค้า

ตราสินค้า (Brand) หมายถึง ชื่อ (Name) คำ (word) เครื่องหมาย (Sign) สัญลักษณ์ (Symbol) การออกแบบ (Design) หรือส่วนประกอบของสิ่งดังกล่าวรวมกัน ผู้ผลิตหรือธุรกิจสร้างขึ้นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ทุกคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า ตราสินค้า กันนัก แต่ถ้าเป็นคำว่า ยี่ห้อ ทุกคนคงคุ้นเคยกันดี แล้วรู้หรือไม่ว่าคำๆนี้มีที่มาอย่างไร

ยี่ห้อ เป็นคำยืมมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า เครื่องหมายการค้า เป็นเครื่องหมายที่ใช้แทนบริษัท เพื่อให้รู้ว่าเป็นสินค้าของบริษัทอะไร เพราะภาษาไทยในยุคก่อนไม่มีคำเรียกเครื่องหมายการค้า เลยต้องอาศัยหยิบยืมคำภาษาอื่นมาเรียกทับศัพท์ และชาวบ้านก็ใช้พูดกันมาจนติดปาก

แล้วทำไมไม่ใช้คำว่าแบรนด์ (Brand) ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ? ก็น่าจะเป็นเพราะคนที่ประกอบอาชีพค้าขายในไทยสมัยก่อน มักเป็นชาวจีนอพยพ หรือเป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงใช้คำว่า “ยี่ห้อ” ได้คล่องปากมากกว่า จนถึงปัจจุบันก็กลายเป็นคำคุ้นชินที่คนไทยใช้กันโดยแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน                                                                                                                                                        (ที่มา :https://sites.google.com/site/onlinelearningseries/hnwy-thi-1-phlitphanth/swnprakxbkhxngphlitphanth)

ในการอบรมครั้งต่อไปนั้นจะเป็นการพัฒนาสูตรให้มีคุณภาพ ด้านกลิ่น ด้านคุณสมบัติของสบู่ใช้แล้วหน้าขาว ผิวเนียนเป็นต้น ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ชาวบ้านได้เสนอให้มีกัญชาเป็นส่วนสมของสบู่ ซึ่งข้าพเจ้าได้หาข้อมูลสรรพคุณของกัญชาและกัญชง ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งได้ข้อมูล ดังนี้

กัญชา

กัญชา เป็นพืชที่เราคุ้นชื่อมานานและรู้จักในนามของพืชต้องห้ามเพราะกฎหมายจัดว่าเป็นยาเสพติด ส่วนกัญชง ก่อนหน้านี้เราไม่คุ้นชื่อกันเท่าไหร่ แต่ช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มได้ยินบ่อยจนคุ้นหูมากแล้วเหมือนกัน เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันได้ปลดล็อกให้ใช้ประโยชน์มากมายของพืช 2 ชนิดนี้ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ

คำว่า “ปลดล็อก” ไม่ได้หมายความว่า พืช 2 ชนิดนี้ถูกถอดออกจากรายชื่อยาเสพติดแล้ว แต่หมายถึงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ภายใต้กรอบกฎหมาย

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ให้บางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติด

กัญชา (Marijuana) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. indica ต้นสูงไม่มากหากเทียบกับกัญชง โดยมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร มีลักษณะเป็นต้นพุ่ม แตกกิ่งก้านสาขาค่อนข้างมาก ลำต้นเป็นปล้องหรือข้อสั้น ใบสีเขียวจัด มี 5-7 แฉก โดยจะเรียงชิดกัน จะออกดอกเมื่ออายุประมาณ 3 เดือน และช่อดอกมียางมาก

ส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2% และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชา ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%

กัญชง

กัญชง (Hemp) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. sativa โดยทั่วไปจะมีลำต้นสูงกว่ากัญชา หรือสูงมากกว่า 2 เมตร มีลักษณะลำต้นสูงเรียว แตกกิ่งก้านสาขาน้อย ปล้องหรือข้อยาว ใบสีเขียวอ่อน มีประมาณ 7-11 แฉก โดยใบมีการเรียงสลับค่อนข้างห่างอย่างชัดเจน กัญชงจะออกดอกเมื่ออายุมากกว่า 4 เดือน และช่อดอกมียางไม่มาก

ส่วนต่าง ๆ ของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% เมล็ด น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ด และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชง ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%

ประชาชน เอกชน สามารถใช้ประโยชน์จากส่วนเหล่านี้ของกัญชาและกัญชงได้ แต่มีข้อกำหนดว่าต้องได้มาจากสถานที่ปลูกหรือผลิตในประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น กรณีการนำเข้าสามารถนำเข้าได้ โดยขออนุญาตเป็นยาเสพติด ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดตามประกาศนี้

กรณีกัญชงนั้นก้าวหน้าไปก่อนกัญชาแล้ว เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ให้ขออนุญาตปลูก ผลิต ส่งออก จำหน่าย ครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเข้ามาปลูกจะสามารถทำได้ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่กฎกระทรวงฉบับนี้บังคับใช้

นอกจากลักษณะทางกายภาพที่ค่อนข้างต่างกันแล้ว สารสกัดที่ได้จากพืชทั้ง 2 ชนิดก็มีปริมาณที่ต่างกันด้วย กัญชงและกัญชามีสารที่เรียกว่า THC (Tetrahydroconnabinol) และ CBD (Canabidiol) ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นตัวแบ่งแยกพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ออกจากกัน

THC เป็นสารที่ทำให้เมาหรือเคลิบเคลิ้ม พบได้มากในกัญชา โดยมีประมาณ 1-20% ส่วนกัญชงมีสารชนิดนี้น้อยกว่า 1% ในทางการแพทย์สาร THC มีประโยชน์ช่วยลดอาการปวด ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร รักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด แต่การใช้สารชนิดนี้ในการรักษาก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยปากแห้ง ตาแห้ง หรือการตอบสนองช้าลงได้

CBD ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในกัญชงมากกว่ากัญชา คือพบประมาณ 2% แต่ในกัญชามีสารชนิดนี้อยู่น้อยมาก เมื่อเสพสารชนิดนี้เข้าไปจะไม่มีอาการเมาหรือเคลิบเคลิ้มเหมือนกัญชา คุณสมบัติทางการแพทย์ของ CBD มีหลากหลาย ช่วยลดอาการปวด แก้อาการนอนไม่หลับ แก้อาการโรคลมชัก แม้จะใช้ในปริมาณมากก็ไม่มีผลข้างเคียง และสารนี้ยังนิยมนำมาใช้ในเครื่องสำอางและสกินแคร์ต่าง ๆ   (ที่มา:https://www.prachachat.net/d-life/news-618836 )

สารสกัดน้ำมันกัญชา คืออะไร

“กัญชา” เป็นพืชที่มีสองด้าน และมี 2 สารอยู่ในตัว ตัวแรก THC สารตัวนี้ทำให้ผ่อนคลาย เก็ทไฮ และส่งผลต่อระบบประสาท หากใช้มากเกินไปอาจเกิดผลกระทบต่อร่างกาย และความจำลดลงได้ ซึ่งวันนี้เราจะไม่ได้พูดถึง THC แต่เราจะมาพูดถึงสารตัวที่สองอย่าง CBD สารที่สกัดที่ได้จาก“กัญชง” พืชในตระกูลกัญชา ช่วยให้ผ่อนคลายได้เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ใช้มากเท่าไหร่ก็ไม่ทำให้เคลิ้มเมา และนิยมนำมาใช้ในวงการแพทย์ จนข้ามมาที่วงการสกินแคร์ในปัจจุบัน

 ทำไมอยู่ๆ วงการความงามก็ฮิต CBD 

จะว่าเพิ่งฮิตก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะก่อนหน้าเจ้า CBD ได้ถูกผสมอยู่ในเซรั่ม โลชั่น ครีม ลิปมัน มาสคาร่า สบู่ และยาทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคผิวหนังสักระยะแล้วแต่ด้วยกฏหมายหลายประเทศที่ยังไม่สามารถนำเข้ามาใช้ได้ ก็อาจจะไม่ได้ลองในทันที มาตอนนี้เราได้เริ่มเห็นบรรดาเซเลบริตี้คนดังมากมาย อาทิ คิม คาเดียนเซียน ที่ออกมาแชร์สกินแคร์ตัวโปรด ซึ่งมีส่วนผสมของ CBD, เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ที่คอยพกน้ำมัน CBD ติดตัวไว้ช่วยผ่อนคลายในตอนเดินทาง หรือการเดินพรมแดงของแมนดี้ มัวร์ ที่ต้องใช้ลิปสติก น้ำหอม ไปถึงการนวดข้อเท้าด้วยน้ำมันที่มีส่วนผสมของ CBD จนกลายเป็นกระแสที่ฮือฮา ทำให้เราต้องกลับมาหาคำตอบว่าเพราะอะไร ซุปเปอร์สตาร์คนดังถึงหลงใหลใน ส่วนผสมตัวนี้

ดีอย่างไร? สารพัดแก้ปัญหาความงามในแบบ All-in-One

น้ำมัน CBD หรือ สารสกัดจาก CBD นั้น มีทั้งวิตามิน A,D,E และ กรดไขมันที่จะช่วยทำให้ผิวดูสุขภาพดี การทำงานของเค้าหลักๆ คือ จะไปให้ความชุ่มชื่นโดยไม่อุดตันรูขุมขน ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นจุดเด่นของการชะลอวัย มาช่วยในเรื่องลดการเกิดริ้วรอย และในขณะเดียวกันก็สร้างความผ่อนคลาย ผิวจึงเหมือนได้รับการดูแลอย่างอ่อนโยนนั่นเอง ซึ่งตรงนี้มีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้บอกไว้ว่า…

ผิวแห้ง : แก้ปัญหาผิวแห้ง ให้ความชุ่มชื่น

น้ำมัน CBD คล้ายกับน้ำมันอะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันอัลมอนด์อื่นๆ ที่สามารถใช้บำรุงผิวได้ เพราะมีกรดไขมันธรรมชาติที่ดี ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื่น ลดความแห้งของผิว และยังนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังได้ด้วย ดร.โจชัว ไซเนอร์ ผู้อำนวยการประจำ Cosmetic & Research ประจำโรงพยาบาล Mount Sinai ได้กล่าวไว้

ผิวมัน : ลดการเกิดสิว พร้อมลดริ้วรอย

สำหรับผิวปกติ ไปถึงผิวมัน ดร.เชอรีนี ไอดริสส์ จาก Union Square Laser Dermatology ได้แนะนำว่าการใช้น้ำมัน CBD จะช่วยบำรุงผิว ไปพร้อมกับขับน้ำมันส่วนเกิน ทำให้ลดโอกาสเกิดสิวได้ อีกทั้งตัวออยล์นั้นยังมีคุณสมบัติในการลดอาการอักเสบ ไปพร้อมกับลดริ้วรอยอีกด้วย

ผิวแพ้ง่าย : ปลอบประโลมผิวจากอาการอักเสบ

ชาร์ลอต เฟอร์กูสัน นักเวชศาสตร์การชะลอวัย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Disciple หนึ่งในแบรนด์ที่หยิบเอา CBD  มาใส่ในสกินแคร์ ได้พูดถึง CBD ไว้ว่า สารตัวนี้นอกจากช่วยปลอบประโลมผิวที่มีการอักเสบได้ดีแล้ว ผิวเป็นสิว และอ่อนแอมากๆ ก็ใช้ได้ โดยรูปแบบที่ดีที่สุด คือ ออยล์ เนื่องจากเป็นการสกัดเพื่อให้ได้สารบริสุทธิ์กว่ารูปแบบอื่น

ผลิตภัณฑ์ CBD ตัวฮ็อตในต่างแดน

ใครเดินทางไปต่างประเทศก็คงได้เห็น Multibrand Cosmetic อย่าง Sephora และ Barney เริ่มนำสกินแคร์ และเมคอัพที่มีส่วนผสมจาก CBD มาวางบนเชลฟ์กันแบบจัดเต็มแล้ว นี่ยังไม่รวมท่าทีของ Estee Lauder, e.l.f, และ Ultra Beauty ที่เตรียมลงสนามพัฒนาไลน์สกินแคร์เข้าเทรนด์นี้ด้วย

ตัวอย่างสารสกัดน้ำมันกัญชาในเครื่องสำอางและสกินแคร์ของต่างประเทศ

1.Nooks + Crannies Soap จาก Leef Organics สบู่ทำความสะอาดผิว เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย ช่วยทำชำระล้างสิ่งสกปรก ให้ผิวอ่อนนุ่ม ไปพร้อมกับสร้างความผ่อนคลาย

2.Replica Music Festival EDT จาก Maison Margiela น้ำหอมที่เอาแรงบันดาลใจจากเทศกาลดนตรี มาออกแบบกลิ่นผ่านเครื่องเทศ แมกไม้ กัญชา และ ซีดาร์วู้ด ช่วยทำคนที่ได้กลิ่นนึกถึงความทรงจำที่แตกต่างกันไป

3.Botanicals Emerald CBD + Adaptogens Deep Moisture Glow Oil จาก Herbivore ให้ความชุ่มชื่น พร้อมลดอาการอักเสบของผิวด้วยเนื้อออยล์ ที่บางเบา ซึมไว แก้ปัญหาผิวแห้ง และผิวเป็นสิวได้ดี

4.Hemp Lip Balm for Dry Lips จาก The Body Shop ลิปบาล์มเนื้อบางเบา ให้ความชุ่มชื่น ลดอาการริมฝีปากแห้ง ช่วยให้ทาลิปสติกติดทนขึ้น                                                                                                          (ที่มา:https://workpointtoday.com/cbd_skincare/)

สารสกัดน้ำมันกัญชานั้นเป็นที่นิยมในต่างประเทศมีการนำมาใช้ในเครื่องสำอางและสกินแคร์ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ซึ่งในประเทศไทยนั้นยังไม่นิยมมากนัก ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสบู่ ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ให้ทุกคนได้ความคิดใหม่ในการหาส่วนผสมที่น่าสนใจเช่น กัญชา กัญชง เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต

 

ลิงค์คำถาม https://docs.google.com/forms/d/1Ys2uzBGLMdFAzK68qTB1XnOKvU0lEDcJHcWTVDz2KKY/edit

อื่นๆ

เมนู