1. หน้าแรก
  2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. HS08 - ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ
  4. การเก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม (SROI) และกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวอินทรีย์ ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

การเก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม (SROI) และกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวอินทรีย์ ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

ข้าพเจ้านางสาวสุนัฐชา สลัยรัมย์ ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ เป็นผู้ปฏิบัติงานใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 รับผิดชอบการดำเนินงานในเขตพื้นที่ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้รับมอบหมายให้สำรวจข้อมูลตามแบบประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม Social Return On Investment (SROI) เพื่อประเมินคุณค่า ติดตามและปรับกลยุทธ์ ตำบลทะเมนชัยมีทั้งหมด 17 หมู่บ้าน เพื่อจัดทำรายงานการดำเนินงานโครงการรอบแรก (เดือนตุลาคม 2564) ได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลตามแบบประเมิน SROI โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมด 11 เป้าหมาย ได้แก่ 1) ตำบลเป้าหมาย 2) ลูกจ้างโครงการ 3) ครอบครัวลูกจ้างโครงการ 4) ชุมชนภายใน 5) ชุมชนภายนอก 6) อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ 7) เจ้าหน้าที่โครงการ USI 8) ผู้แทนตำบล 9) หน่วยงานภาครัฐ 10) หน่วยงาน อปท 11) เอกชนในพื้นที่ โดยข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานจากการแบ่งกลุ่มได้รับมอบหมายงานให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล 5 เป้าหมาย ได้แก่

1) ชุมชนภายใน ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบประเมิน SROI ที่ร้านก๋วยเตี๋ยว 19 บาท ณ บ้านหนองตาด ตำบลทะเมนชัย โดยสัมภาษณ์และได้รับข้อมูลจาก นางสุขขี แสนรัมย์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว 19 บาท

2) ผู้แทนตำบล ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบประเมิน SROI ที่เทศบาลตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสัมภาษณ์และได้รับข้อมูลจาก นายปัญญา มาจิตต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในปัจจุบัน

3) หน่วยงานภาครัฐ ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบประเมิน SROI ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านบุแปบ ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์  โดยสัมภาษณ์และได้รับข้อมูลจาก นายสุรวุฒิ สุเรรัมย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านบุแปบในปัจจุบัน

4) หน่วยงาน อปท ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบประเมิน SROI ที่บ้านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสัมภาษณ์และได้รับข้อมูลจาก นายกิตติพงษ์ ชะลางรัมย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน

5) เอกชนในพื้นที่ ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบประเมิน SROI ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านบุลิ้นฟ้า ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสัมภาษณ์และได้รับข้อมูลจาก นายประสิทธิ์ ชัยวิชา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านบุลิ้นฟ้าในปัจจุบัน

รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม พบว่าได้รับข้อมูลตามแบบประเมิน SROI จากกลุ่มเป้าต่างๆ ดังนี้ กลุ่มตำบลเป้าหมาย 3 ชุด กลุ่มลูกจ้างโครงการ 9 ชุด กลุ่มครอบครัวลูกจ้าง 1 ชุด กลุ่มชุมชนภายใน 1 ชุดกลุ่มชุมชนภายนอก 1 ชุด กลุ่มผู้เเทนตำบล 1 ชุด กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ 1 ชุด กลุ่มหน่วยงาน อปท. 1 ชุด กลุ่มเอกชนในพื้นที่ 1 ชุด รวมทั้งหมด 19 ชุด จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายตามแบบประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม Social Return On Investment (SROI) เป็นไปได้ด้วยดี จึงทำการจัดส่งข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ผลการประเมินต่อไป

การทำกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปอินทรีย์ (ข้าวหมากและข้าวแต๋น) ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ เนื้อหาการประชุมได้ชี้แจงเกี่ยวกับกิจกรรมพัฒนาข้าวแต๋น ข้าวหมาก มีการแบ่งกลุ่มการทำงานเพื่อแบ่งตำแหน่งหน้าที่กัน ชี้แจงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเตรียมลงพื้นที่ ปัญหาต่างๆ เช่น การทำให้ชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ข้าวหมากข้าวแต๋นให้ขายได้ การทำตลาดออนไลน์ การออกแบบการทำกิจกรรมช่วยชาวบ้านขายผลิตภัณฑ์ การทำศูนย์การเรียนรู้ เส้นทางการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ต่างๆ เป็นต้น การทำกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปอินทรีย์ (ข้าวหมากและข้าวแต๋น) ที่จัดขึ้นในวันที่ 16-17 ตุลาคม 2564 สถานที่บ้านน้อยพัฒนาและวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ที่บ้านบุลิ้นฟ้า ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นและข้าวหมาก ดังนี้

  1. บ้านหนองตาด จำนวน 3 คน​
  2. บ้านหนองหญ้าปล้อง​ จำนวน​ 3 คน
  3. บ้านใหม่อัมพวัน จำนวน 3 คน
  4. บ้านบุตาริด จำนวน 3 คน
  5. บ้านน้อยพัฒนา จำนวน 3 คน
  6. บ้านหนองม่วง จำนวน 3 คน
  7. บ้านหนองน้ำขุ่น จำนวน 3 คน

รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 21 คน

ข้าพเจ้าได้รับผิดชอบหน้าที่เป็นฝ่ายลงทะเบียน และช่วยในกิจกรรมอื่นๆ เช่น จัดสถานที่ ยกของ ขนของ บันทึกภาพ เป็นต้น

กิจกรรมพัฒนาข้าวแต๋น ณ บ้านน้อยพัฒนา ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น มีสูตรการทำดังต่อไปนี้

1) ข้าวแต๋นชาเขียว

ส่วนผสม

  1. ข้าวเหนียว 1/2 กิโลกรัม
  2. เกลือป่น 1 ช้อนชา
  3. น้ำชาเขียว (ชาตรามือ) 1 ถ้วยตวง(สำหรับทำสีของข้าว)
  4. น้ำชาเขียว (ชาตรามือ) 3 ช้อนโต๊ะ(สำหรับเคี่ยวน้ำตาล)
  5. งาดำหรืองาขาว 2 ช้อนโต้ะ
  6. น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย(มิตรผล) 500 กรัม
  7. น้ำตาลทรายแดง 2-3 ช้อนโต๊ะ
  8. น้ำกะทิกล่อง 1 ช้อนโต้ะ

วิธีการทำ

  1. นำข้าวเหนียวล้างเอาสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมออกให้หมด และแช่ข้าวเหนียวไว้ 1 คืน(หม่าข้าว)
  2. นึ่งข้าวเหนียวและพักไว้ให้คลายความร้อน (ถ้าข้าวแข็งๆนิดนึงจะดีมากเพราะจะทำให้ใส่พิมพ์และปั้นง่าย)
  3. เมื่อข้าวคลายร้อนแล้ว ให้ใส่น้ำชาเขียวที่ผ่านการกรองเหลือแต่น้ำแล้ว 1 ถ้วยตวงหรือให้เช็กดูว่าข้าวที่ใส่ชาเขียวแล้วเหนียวได้ที่กำลังดี
  4. ใส่เกลือป่นและงาดำหรืองาขาวก็ได้
  5. ใช้มือคลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันเบาๆพยายามให้ข้าวกระจายเป็นเม็ดและให้สังเกตสีของข้าวว่ามีสีชาเขียวทั่วทุกเม็ด ห้ามบี้หรือบีบข้าวเพราะจะทำให้เกาะกันเป็นไตได้
  6. เสร็จแล้ว พักไว้ 5 นาที
  7. นำข้าวที่พักไว้แล้ว ปั้นใส่พิมพ์ พยายามอย่าให้ข้าวอัดกันแน่นเกินไปเพราะเวลานำมาทอดข้าวจะไม่ฟู
  8. นำไปตากแดดจัด 1 วัน (อย่าลืมพลิกข้าวกลับด้าน)

วิธีทอดข้าวแต๋น

ตั้งไฟรอน้ำมันเดือดจัด แล้วนำข้าวที่ตากแล้ว ลงทอด ตอนทอดพยายามอย่าใช้ไฟแรงจนเกินไป และให้หมั่นพลิกกลับด้านข้าวบ่อยๆ จนเหลืองสวย แล้วนำพักบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน

วิธีทำน้ำตาลราดข้าวแต๋น

  1. นำน้ำกะทิ+น้ำชาเขียว+น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย+น้ำตาลทรายแดง (น้ำตาลทรายแดงจะช่วยให้น้ำตาลตกทรายง่ายขึ้นสามารถเช็กความหนึดของน้ำตาลเวลาเคี่ยวแล้วเพิ่มปริมาณได้) และเกลือ1หยิบมือ ใส่ลงไป แล้วเปิดไฟ ใช้ไฟอ่อนอย่าใช้ไฟแรง เคี่ยวส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน **ทั้งเคี่ยวและคน**ระวังน้ำตาลไหม้ เคี่ยวจนน้ำตาลเริ่มตกทรายเกาะขอบหม้อ แล้วให้ปิดไฟ และเคี่ยวต่อแบบไม่มีไฟ
  2. พักน้ำตาลให้คลายร้อนซักพัก แล้วค่อยนำมาราดบนหน้าข้าวแต๋น

2) ข้าวแต๋นมันม่วง

มีส่วนผสมและขั้นตอนวิธีการทำคล้ายกันกับชาเขียว โดยมีปริมาณในการใช้ส่วนผสมเหมือนกัน แต่ให้เปลี่ยนจากชาเขียวเป็นมันม่วง ซึ่งน้ำสีของมันม่วงได้จากการเอามันม่วงมาปั้นกรองเอาแต่น้ำ

เคล็ดลับ : เวลาเคี่ยวน้ำตาลชาเขียว/มันม่วงให้สังเกตกลิ่นและสีของน้ำราด ถ้ายังหอมออกกลิ่นของชาเขียวไม่พอสามารถเติมน้ำชาเขียวเพิ่มได้..แต่ห้ามเติมตอนเคี่ยวร้อนๆเด็ดขาด ให้เติมตอนที่น้ำตาลคลายร้อนแล้วเท่านั้น เพราะถ้าเติมตอนร้อนๆน้ำตาลจะไหม้ได้ (สูตรและเทคนิควิธีการทำสามารถปรับได้ตามความถนัดของแต่ละบุคคลนะคะ)

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทดลองทำข้าวแต๋น การตากข้าวแต๋นไม่แห้ง เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในฤดูฝนทำให้การตากข้าวแต๋นไม่แห้ง และไม่มีเครื่องอบ ข้าวแต๋นไม่กรอบเก็บไว้ได้ไม่นาน บรรจุภัณฑ์ของข้าวแต๋นควรต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทไม่มีอากาศเข้า สีสันของข้าวแต๋นยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ข้อเสนอแนะ รสชาติของข้าวแต๋นนอกรสหวานแล้วอยากเสนอรสชาติเค็มและเผ็ดด้วย เช่น รสบาบิคิว ปาปิก้า หม่าล่า เป็นต้น

กิจกรรมพัฒนาข้าวหมาก ณ บ้านบุลิ้นฟ้า ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมาก มีสูตรการทำดังต่อไปนี้

ส่วนผสม ข้าวเหนียวหอมมะลิ  1 กก.   แป้งข้าวหมาก 2-3  ลูก

วิธีการทำ

  1. นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาล้างน้ำฝน ประมาณ 3 ครั้ง ใช้มือถูเบาๆ จนข้าวหมดเมือกหรือให้น้ำใส แล้วใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
  2. นำลูกแป้งข้าวหมากมาบดให้ละเอียด โรยแป้งข้าวหมากบนข้าวเหนียว ใช้ไม้พายคลุกเคล้าข้าวเหนียวให้ทั่ว
  3. บรรจุข้าวเหนียวที่ได้ใส่ภาชนะ ปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ 2-3 วัน ก็จะสามารถรับประทานได้

 

เคล็ดลับวิธีทำ ข้าวหมากหวาน

  1. ข้าวเหนียวใหม่ คือข้าวเหนียวซึ่งเพิ่งเก็บเกี่ยวในหนึ่งปี เมื่อนำไปนึ่งข้าวจะนิ่มแฉะกว่าข้าวเหนียวเก่า
  2. การเตรียมนึ่งข้าว ต้องให้น้ำไหลออกจากหวดจนสะเด็ดน้ำ ก่อนที่จะนำไปนึ่ง
  3. ห้ามล้างข้าวขณะที่ข้าวยังร้อนอยู่ ทำให้ข้าวเหนียวแฉะ ควรรอให้ข้าวคลายความร้อนก่อนล้าง หากล้างข้าวเหนียวเละ และแฉะ จะมีน้ำอยู่ในข้าวมาก ทำให้ข้าวหมากที่มีรสเปรี้ยวได้
  4. น้ำต้อยข้าวหมากออกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้า เมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากแล้ว ค่อนข้างมีเมล็ดติดกัน น้ำต้อยจะออกมามาก แต่ถ้าเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากค่อนข้างแห้งเมล็ดไม่ติดกันน้ำต้อยจะออกมาพอดี
  5. ลูกแป้งข้าวหมากต้องไม่เก่าเกินไป เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลูกแป้งอาจตายหรือมีน้อยเกินไป ทำให้ข้าวหมากไม่หวาน- เก็บข้าวหมากที่อยู่ระหว่างการหมักไว้ในพื้นที่ที่สะอาด

การติดตามและแนะนำการแปรรูปและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ (ข้าวหมาก) ได้ติดต่อประสานงานกับหัวหน้าสมาชิกกลุ่มชุมชุนบ้านบุแปบ ในการเข้าอบรมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนากิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและให้คำเเนะนำสมาชิกเป้าหมายบ้านบุแปบ จำนวน 5 คน ดังนี้

  1. นางสุภาพ ซอนรัมย์
  2. นางสมปอง นาดี
  3. นางบุพผา แช่มรัมย์
  4. นางดาวเรือง สุดสายเนตร
  5. นางประณี ซึมรัมย์

เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากของชุมชนบ้านบุแปบได้ติดตามและให้คำแนะนำการแปรรูปและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ข้าวหมากของบ้านบุแปบ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบสมาชิกกลุ่มในชุมชน มีการทดลองการทำข้าวหมากอย่างต่อเนื่องรสชาติที่ออกมาจึงมีความหอม หวานอร่อยคงที่ ได้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวหมากในชุมชนและในรูปแบบออนไลน์ ผู้บริโภคเริ่มรู้จักสินค้ามากขึ้น เนื่องจากการจัดการทำเพจผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวอินทรีย์ในเพจตลาดออนไลน์ตำบลทะเมนชัย งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่

1) ติดต่อประสานงานเก็บข้อมูล SROI กับ กำนันตำบลทะเมนชัยและปลัดเทศบาลตำบลทะเมนชัย

2) ติดตามผลและประสานงานกับสมาชิกเป้าหมายของบ้านหนองม่วงใต้ที่เข้ารวมกิจกรรม

3) บันทึกภาพและวิดิโอในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น

อื่นๆ

เมนู