การติดตามผลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋นที่
ต.ทะเมนชัย อ.ลำปลายมาศ จ.บุคมรีรัมย์ ประจำเดือนตุลาคม 2564
หลักสูตร: ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ ได้ดำเนินการปฏิบัติงานร่วมกับทีมงานและอาจารย์ประจำหลักสูตร เพื่อติดตามความคืบหน้าของการทำผลิตภัณฑ์ข้าวหมากของชุมชน
ข้าพเจ้านางสาวจุรีพร โสมณวัฒน์ ประเภทประชาชน หลักสูตรHS-08 ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมผู้ปฏิบัติงานและอาจารย์ประจำโครงการตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ตำบลทะเมนชัยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรมีชื่อเสียงในเรื่องของข้าวอินทรีย์แต่ละปีสามารถผลิตข้าวได้เป็นจำนวนมากดังนั้นข้าวจึงถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋นจึงได้นำมาส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานและรักษาคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
วันที่ 3 ตุลาคม 2564 เวลา 20.00 น. ข้าพเจ้าได้ประชุมออนไลน์ร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลทะเมนชัย และอาจารย์ประจำหลักสูตรเพื่อรับทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน หน้าที่และความรับผิดชอบโดยให้ผู้ปฏิบัติงานที่เคยทำงานในพื้นที่ให้คำแนะนำและดูแลผู้ปฏิบัติงานที่เข้ามาใหม่เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
วันที่ 4 ตุลาคม2564 เวลา 10.30 เข้าร่วมประชุมที่อาคาร 6 ชั้น1 ห้องส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย สาขา รปศ.มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์เรื่องการรายงานตัวในระบบและการส่งเอกสารการรายงานตัวฉบับจริง การลงบทความและการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งกิจกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตำบลคือการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋นให้เป็นที่รู้จัก การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพสามารถบรรจุสินค้าให้สามารถเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้นานขึ้น
วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Google Meet เพื่อประชุมงานประจำเดือนตุลาคมและได้แบ่งหน้าที่ในการทำแบบสอบถาม U2T-SROI แบบสอบถามนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการดำเนินกิจกรรม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T)โดยข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบแบบสอบถามเกี่ยวกับชุมชนภายนอกตำบลทะเมนชัย โดยข้าพเจ้าได้สอบถามร้านค้าในตำบลลำปลายมาศเกี่ยวกับผลกระทบด้านอื่นๆจากการให้บริการ การจัดส่งวัตถุดิบให้กับชุมชน พบว่าจากการดำเนินงานของโครงการทำให้มีการจ้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้รับจ้างงานภายใต้โครงการ ทำให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงดีขึ้น
วันที่ 7 ตุลาคม 2564ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวหมากของชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้องหมู่ที่5 พบว่าผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนและมีแนวทางที่จะขยายตลาดให้กว้างขึ้นโดยใช้ช่องทางออนไลน์ ในปัจจุบันมีผู้ซื้อขายออนไลน์จำนวนมาก ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและสามารถลดต้นทุนในการผลิต
วิธีการทำข้าวหมาก
ส่วนประกอบและอัตราส่วน : ข้าวเหนียวหอมมะลิ 1 กก. แป้งข้าวหมาก 2-3 ลูก
วิธีทำ : 1.นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาล้างน้ำฝน ประมาณ 3 ครั้ง ใช้มือถูเบาๆ จนข้าวหมดเมือกหรือให้น้ำใส แล้วใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
2.นำลูกแป้งข้าวหมากมาบดให้ละเอียด โรยแป้งข้าวหมากบนข้าวเหนียว ใช้ไม้พายคลุกเคล้าข้าวเหนียวให้ทั่ว
3.บรรจุข้าวเหนียวที่ได้ใส่ภาชนะ ปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ 2-3 วัน ก็จะสามารถรับประทานได้
เคล็ดลับวิธีทำ ข้าวหมากหวาน
– ข้าวเหนียวใหม่ คือข้าวเหนียวซึ่งเพิ่งเก็บเกี่ยวในหนึ่งปี เมื่อนำไปนึ่งข้าวจะนิ่มแฉะกว่าข้าวเหนียวเก่า
– การเตรียมนึ่งข้าว ต้องให้น้ำไหลออกจากหวดจนสะเด็ดน้ำ ก่อนที่จะนำไปนึ่ง
– ห้ามล้างข้าวขณะที่ข้าวยังร้อนอยู่ ทำให้ข้าวเหนียวแฉะ ควรรอให้ข้าวคลายความร้อนก่อนล้าง หากล้างข้าวเหนียวเละ และแฉะ จะมีน้ำอยู่ในข้าวมาก ทำให้ข้าวหมากที่มีรสเปรี้ยวได้
– น้ำต้อยข้าวหมากออกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้า เมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากแล้ว ค่อนข้างมีเมล็ดติดกัน น้ำต้อยจะออกมามาก แต่ถ้าเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากค่อนข้างแห้งเมล็ดไม่ติดกันน้ำต้อยจะออกมาพอดี
– ลูกแป้งข้าวหมากต้องไม่เก่าเกินไป เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลูกแป้งอาจตายหรือมีน้อยเกินไป ทำให้ข้าวหมากไม่หวาน- เก็บข้าวหมากที่อยู่ระหว่างการหมักไว้ในพื้นที่ที่สะอาด
นอกจากนี้การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยมีฝาปิดที่มิดชิดมีวันเดือนปีที่ผลิตวันหมดอายุและคำแนะนำในการจัดเก็บ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
วันที่17 ตุลาคม 2564 อบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น ที่บ้านน้อยพัฒนามีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 54 คน ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการจัดทำและผลิตข้าวแต๋นปัญหาที่พบ คือในฤดูฝนอากาศชื้นไม่เหมาะสำหรับการตากข้าวแต๋นทำให้ข้าวแต๋นไม่แห้งทอดไม่ฟูและในการตากข้าวแต๋นเมื่อกลับด้านข้าวแต๋นติดกับกระด้งทำให้แผ่นข้าวแต๋นแตก แนะนำให้ใช้แผ่นพลาสติกรองก่อนตากทำให้ลดการแตกของแผ่นข้าวแต๋นได้ เพื่อเป็นการเพิ่มรสชาติที่หลากหลายและสีสันที่สวยงามแนะนำให้ใช้ชาเขียวแทนน้ำแตงโม บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกที่สามารถซีลปากถุงได้เพื่อรักษาความกรอบและรสชาติของข้าวแต๋น
สูตรและขั้นตอนวิธีการทำข้าวแต๋น
1.) ข้าวแต๋นชาเขียว
ส่วนผสม
(1.) ข้าวเหนียว 1/2 กก.
(2.) เกลือป่น 1 ชช.
(3.) น้ำชาเขียว(ชาตรามือ) 1 ถ้วยตวง(สำหรับทำสีของข้าว)
(4.) น้ำชาเขียว(ชาตรามือ) 3 ช้อนโต๊ะ(สำหรับเคี่ยวน้ำตาล)
(5.) งาดำหรืองาขาว 2 ช้อนโต้ะ
(6.) น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย(มิตรผล) 500 กรัม
(7.) น้ำตาลทรายแดง 2-3 ช้อนโต๊ะ
(8.) น้ำกะทิกล่อง 1 ช้อนโต้ะ
วิธีการทำ
- นำข้าวเหนียวล้างเอาสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมออกให้หมด และแช่ข้าวเหนียวไว้ 1 คืน(หม่าข้าว)
- นึ่งข้าวเหนียวและพักไว้ให้คลายความร้อน (ถ้าข้าวแข็งๆนิดนึงจะดีมากเพราะจะทำให้ใส่พิมพ์และปั้นง่าย)
- เมื่อข้าวคลายร้อนแล้ว ให้ใส่น้ำชาเขียวที่ผ่านการกรองเหลือแต่น้ำแล้ว 1 ถ้วยตวงหรือให้เช็กดูว่าข้าวที่ใส่ชาเขียวแล้วเหนียวได้ที่กำลังดี
- ใส่เกลือป่นและงาดำหรืองาขาวก็ได้
- ใช้มือคลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันเบาๆพยายามให้ข้าวกระจายเป็นเม็ดและให้สังเกตสีของข้าวว่ามีสีชาเขียวทั่วทุกเม็ด ห้ามบี้หรือบีบข้าวเพราะจะทำให้เกาะกันเป็นไตได้
- เสร็จแล้ว พักไว้ 5 นาที
- นำข้าวที่พักไว้แล้ว ปั้นใส่พิมพ์ พยายามอย่าให้ข้าวอัดกันแน่นเกินไปเพราะเวลานำมาทอดข้าวจะไม่ฟู
- นำไปตากแดดจัด 1 วัน (ครึ่งวันๆอย่าลืมพลิกกลับด้านข้าวด้วยนะคะ)
วิธีทอดข้าวแต๋น
– ตั้งไฟรอน้ำมันเดือดจัด แล้วนำข้าวที่ตากแล้ว ลงทอด ตอนทอดพยายามอย่าใช้ไฟแรงจนเกินไป และให้หมั่นพลิกกลับด้านข้าวบ่อยๆ จนเหลืองสวย แล้วนำพักบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน
วิธีทำน้ำตาลราดข้าวแต๋น
– นำน้ำกะทิ+น้ำชาเขียว+น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย+น้ำตาลทรายแดง(น้ำตาลทรายแดงจะช่วยให้น้ำตาลตกทรายง่ายขึ้นสามารถเช็กความหนึดของน้ำตาลเวลาเคี่ยวแล้วเพิ่มปริมาณได้) และเกลือ1หยิบมือ ใส่ลงไป แล้วเปิดไฟ ใช้ไฟอ่อนอย่าใช้ไฟแรง เคี่ยวส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน **ทั้งเคี่ยวและคน**ระวังน้ำตาลไหม้นะคะ เคี่ยวจนน้ำตาลเริ่มตกทรายเกาะขอบหม้อ แล้วให้ปิดไฟ และเคี่ยวต่อแบบไม่มีไฟ
– พักน้ำตาลให้คลายร้อนซักพัก แล้วค่อยนำมาราดบนหน้าข้าวแต๋น
2.) ข้าวแต๋นมันม่วง
– มีส่วนผสมและขั้นตอนวิธีการทำคล้ายกันกับชาเขียว โดยมีปริมาณในการใช้ส่วนผสมเหมือนกัน แต่ให้เปลี่ยนจากชาเขียวเป็นมันม่วง ซึ่งน้ำสีของมันม่วงได้จากการเอามันม่วงมาปั้นกรองเอาแต่น้ำ
เคล็ดลับ : เวลาเคี่ยวน้ำตาลชาเขียว/มันม่วงให้สังเกตกลิ่นและสีของน้ำราด ถ้ายังหอมออกกลิ่นของชาเขียวไม่พอสามารถเติมน้ำชาเขียวเพิ่มได้..แต่ห้ามเติมตอนเคี่ยวร้อนๆเด็ดขาด ให้เติมตอนที่น้ำตาลคลายร้อนแล้วเท่านั้น เพราะถ้าเติมตอนร้อนๆน้ำตาลจะไหม้ได้(สูตรและเทคนิควิธีการทำสามารถปรับได้ตามความถนัดของแต่ละบุคคลนะคะ)
สรุป การลงพื้นที่ในเดือนตุลาคม เป็นการติดตามผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นและข้าวหมากด้านบรรจุภัณฑ์และการตลาด เพื่อส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นการสร้างแก้วให้กับประเทศตรงตามจุดประสงค์ของโครงการ