บทความเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔
ข้าวมะลิ กข ๑๕ หรือข้าวหอมมะลิ ๑๕
ข้าว กข ๑๕ หรือ ข้าวหอมมะลิ กข ๑๕ หรือข้าวดอ ที่ชาวบ้านเรียกขานกันนั้น เป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์เบาที่มีช่วงเก็บเกี่ยวเร็วกว่าข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ประมาณหนึ่งเดือน เป็นข้าวที่เกษตรกรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมปลูกกัน เพื่อใช้เงินจากการขายข้าวบางส่วนเป็นค่าใช้จ่ายก่อนที่จะเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ในช่วงปลายปี เพราะใช้เวลานานกว่า
ชื่อพันธุ์ – กข ๑๕
ชนิด – ข้าวจ้าว
ประวัติพันธุ์
- ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยการใช้รังสีชักนำให้กลายพันธุ์ โดยใช้รังสีแกมมาปริมาณ ๑๕ กิโลแรดอาบเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ แล้วนำมาปลูกคัดเลือกที่สถานีทดลองข้าวต่างๆในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนได้สายพันธุ์ KDML 105,65G1U-45
การรับรองสายพันธุ์
คณะกรรมการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตรมีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๑
ลักษณะประจำพันธุ์
- เป็นข้าวจ้าวสูงประมาณ ๑๔๐ เซนติเมตร
- ไวต่อช่วงแสง
- อายุเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน
- ลำต้นและใบสีเขียวอ่อน ใบธงทำมุมกับคอรวง รวงอยู่เหนือใบ ใบยาว ค่อนข้างแคบ
- เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ปลายบิดงอเล็กน้อย
- ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณเจ็ดสัปดาห์
- คุณภาพข้าวสุก นุ่ม มีกลิ่นหอม
ผลผลิต ประมาณ ๕๖๐กิโลกรัมต่อไร่
ลักษณะเด่น
- ทนแล้งได้ดีพอสมควร
- อายุเบา เก็บเกี่ยวได้เร็ว
- คุณภาพการหุงต้ม นุ่ม มีกลิ่นหอม
- คุณภาพการสีดี เมล็ดข้าวสารใส แกร่งเรียวยาวงาม
- ทำการนวดง่าย
- ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล
ข้อควรระวัง
- ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้
- ไม่ต้านทานแมลงบัว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและหนอนกอ
- ล้มง่าย ฟางอ่อน เมล็ดร่วงง่าย
พื้นที่แนะนำปลูก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ความแตกต่างระหว่างข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ กับข้าวหอมมะลิ ๑๕
ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ เรียกเป็นทางการว่า ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕
ลักษณะสายพันธุ์
- นิยมปลูกในฤดูนาปี จะมีกลิ่นหอมมาก เมื่อพบภาวะน้ำแห้งและอากาศเย็น
- เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง (จะออกดอกเฉพาะช่วงกลางวันสั้น กลางคืนยาว และมีอากาศเย็น ) เป็นข้าวหนักคุณภาพดี
- เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน อายุตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๒๐ วัน
- ผลผลิตประมาณ ๓๖๕ กิโลกรัมต่อไร่ (หากดูแลดีก็จะได้ผลผลิตสูงกว่านี้)
- ทนต่อสภาพดินเค็ม ดินเปรี้ยว ความแล้ง ได้ดี
- พื้นที่แนะนำในการปลูก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคเหนือตอนบน
ข้อเด่น
มีกลิ่นหอม นุ่ม อร่อย แม้นตอนข้าวสุกแล้วและเย็นแล้ว หากเก็บเป็นข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารก็ยังคงความนุ่ม หอมไว้ได้
ข้าวพันธุ์ กข ๑๕ (ที่เรียกว่า ข้าวหอมมะลิได้มาจากการปรับปรุงพันธุ์) โดยการใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ของข้าวหอมมะลิพันธุ์ ๑๐๕
ลักษณะของสายพันธุ์
- นิยมปลูกในฤดูนาปี จะมีกลิ่นหอมมาก เมื่อพบภาวะน้ำแห้งและอากาศเย็น แต่เป็นข้าวชนิดเบา ให้ผลผลิตได้มาก จะสุกและสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ประมาณ ๒๐ วัน
- ผลผลิตประมาณ ๕๖๐ กิโลกรัมต่อไร่
- ทนแล้ง และดินเค็ม ดินเปรี้ยวได้ดี
- ปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อเด่น
มีกลิ่นหอม นุ่ม เหมือนข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ แต่กลิ่นจะหอมน้อยกว่า สาเหตุมาจากการปรับปรุงสายพันธุ์
ต้องขอขอบพระคุณนายสะอาด ทำนา เกษตรกรดีเด่นและประธานกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านบัวเป็นอย่างสูงที่ได้ให้ข้อมูลข้างต้นอย่างละเอียดเมื่อได้เจอกันครั้งล่าสุดในงานกฐินสามัคคีที่วัดบัวทรายทอง บ้านบัวหมู่ ๑๖ ทำให้ได้รับรู้เรื่องข้าวหอมมะลิอย่างลึกอีกครั้งหนึ่ง
นายวิฑูรย์ หินแก้ว / ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔