ประวัติของวัดเกาะแก้วธุดงคสถาน(วัดระหาร)

 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ได้ลงพื้นที่ ณ วัดบ้านโคกวัด จัดทำโครงการพัฒนาข้าวแต๋น และได้ลงพื้นที่ติดตามผลการพัฒนาข้าวแต๋นของคนในชุมชนว่า มีความคืบหน้ายังไงบ้าง และได้รับมอบหมายให้เขียนบทความเรื่อง ประวัติของวัดเกาะแก้วธุดงตสถานหรือที่เรียกว่าวัดระหาร

            เกาะแก้วธุดงคสถาน (วัดระหาน) ดำริการก่อสร้างโดยพระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม) บนที่ดินของคุณสมพงษ์ พูนผล ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่ ด้วยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นเกาะกั้นคลองลำตะโคง จำนวน 3 เกาะ รวมพื้นที่ 140 ไร่ เป็นสถานที่เงียบสงบเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาคณะศรัทธาซึ่งเป็นลูกหลานๆ ของหลวงปู่ จึงพร้อมใจกันถวายที่ดิน เพื่อดำเนินการสร้างวัดในปี พ.ศ. 2536 โดยต่อมาในปี 2539 ได้รับอนุญาตสร้างวัดตามประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากนั้นได้มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาอยู่จำพรรษาอย่างต่อเนื่องเสมอมาและต่อมาได้ดำเนินการขออนุญาตตั้งวัดในพระพุทธศาสนา ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 ด้วยความเห็นชอบของ มหาเถรสมาคม นามว่า “วัดระหาน” (คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์, 2553)

          ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดระหาน คือ พระมหาธาตุรัตนเจดีย์ ศรีบุรีรัมย์ เป็นพุทะเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอัญเชิญมาจากสามประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา (สมเด็จพระสังฆราชประทาน) ที่หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ หรือ พระครูเขมคุณโสภณ มีนามเดิมว่า จันทร์ นามสกุล ร้อยตะคุ เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 5 ปีจอ ตรงกับวันที่ 17 เม.ย. 2465 เวลาเย็น ณ บ้านปะหลาน ต.ปะหลาน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม โยมบิดาชื่ออ่อนสี โยมมารดาชื่อแก้ว มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 8 คน

          เดิมทีนั้นครอบครัวของหลวงปู่ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ มีถิ่นฐานทำกินอยู่ที่บ้านตะคุ ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า ซึ่งตามภาษาอีสาน เรียกขานกันว่า “นายฮ้อย” อันเป็นที่มาของนามสกุลว่า ฮ้อยตะคุ (เรียกตามภาษาท้องถิ่นอีสาน) หรือร้อยตะคุนั่นเอง ต่อมาโยมบิดาของท่านได้อพยพโยกย้ายครอบครัวไปทำมาหากินอยู่ที่บ้านปะหลาน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งหลวงปู่ได้ถือกำเนิด ณ หมู่บ้านแห่งนี้

         ต่อมาบิดาของท่าน ก็ได้โยกย้ายครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง ไปทำมาหากิน ณ บ้านระหาร ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งวัดเกาะแก้วธุดงคสถานในปัจจุบันนี้

         หลวงปู่เคยเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กว่า “บิดามารดาเป็นชาวนาชาวไร่ ทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งชาวนาไทยเรานั้นถึงจะลำบากยากไร้แค่ไหนก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนจนเกินไป อันความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้านั้น ใครๆ ก็ไม่อยากได้รับ แต่ชาวนาจะหลบหลีกได้หรือ ก็ต้องอดทนจนกลายเป็นความเคยชินนั่นแหละ ก็อย่างญาติโยมชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 อาบน้ำแต่งตัว ดื่มกาแฟพอรองท้อง ก็ต้องขับรถออกไปทำงาน ถ้าออกสายรถก็ติด บางรายถึงกับต้องเอาเสบียงอาหารติดรถไปด้วย เมื่อไปถึงที่ทำงานก็รับประทานอาหารเสร็จแล้วแปรงฟันอีกที เสร็จพิธีก็ทำงานกับหมู่คณะได้ ชาวนาก็เช่นเดียวกัน ทำงานเหนื่อยก็ต้องอาศัยร่มไม้ใบเงา หายเหนื่อยก็ทำงานต่อไป” เมื่อตัดสินใจว่าจะบวช บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นนาคที่วัดกระดึงทอง ซึ่งขณะนั้นมีพระอาจารย์แก้วเป็นผู้ปกครองได้รับเข้าเป็นนาคแล้วถามว่า “จะบวชนานไหม” หลวงปู่ตอบว่า “บวช 3 ครับ” เพราะไม่กล้าบอกออกไปว่าจะบวชไม่สึก เพราะโดยอุปนิสัยของท่านแล้ว ถ้าทำอะไรยังไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้จะไม่พูดไปก่อน แต่คำว่า “สาม” ของท่านนั้น คงจะหมายถึง ปฐมวัย มัชิมวัย ปัจฉิมวัย ซึ่งท่านได้ อุทิศถวายให้แก่พระพุทธศาสนาแล้ว

         ในสมัยนั้น การจะบวชเป็นพระธรรมยุตเป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร จะต้องเดินทางไปเป็นแรมคืนทีเดียว เพราะในแถบ จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นวัดธรรมยุต มีพัทธสีมาสามารถให้การอุปสมบทได้ ก็มีเพียงวัดเดียวเท่านั้น คือ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

          หลวงปู่ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบูรพาราม เมื่อปี 2488 โดยมี พระครูรัตนากรวิสุทธิ์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เป็นพระอุปัชาย์ พระครูคุณสารสัมปัน (หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน) แห่งวัดวชิราลงกรณ วราราม จ.นครราชสีมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาจากพระอุปัชาย์ว่า เขมสิริ ขณะที่อายุได้ 23 ปีเต็ม

         หลวงปู่ท่านเมตตาเล่าไว้ว่า “ช่วงที่บวชใหม่ๆ นั้น ยังไม่รู้จักกับหลวงปู่ดูลย์มากนัก เพราะไม่ได้อยู่ จ.สุรินทร์ แต่ก็ได้รับโอวาทธรรมในเรื่องการประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทางสำหรับพระใหม่มาบ้าง”

         ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะไม่ได้อยู่ อุปัฏฐากบำรุงพระอุปัชาย์ในฐานะที่เป็นสัทธิวิหาริก แต่ท่านก็ยึดถือปฏิปทาของพระอุปัชาย์เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ท่านเป็นพระที่พูดน้อย แต่เคร่งครัดในการปฏิบัติ ยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นหลักตามแบบฉบับของหลวงปู่พระอุปัชาย์ ซึ่ง สิ่งเหล่านี้หลวงปู่ได้ยึดถือเป็นแบบปฏิบัติ ดังปรากฏเป็นคติสอนศิษยานุศิษย์เรื่อยมาไม่ผิดเพี้ยน

        หลวงปู่จันทร์แรมเป็นศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และที่สำคัญท่านเป็นพระภิกษุรูปแรกจาก จ.บุรีรัมย์ ที่ได้พบหลวงปู่มั่น เมื่อบวชได้ 4 พรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ

        ท่านเข้าสู่สำนักบ้านหนองผือได้แต่อยู่ได้เพียงเดือนเศษ เพราะไม่มีพระผู้ใหญ่รับรอง ระหว่างนั้นมีโอกาสได้รับเทศนาโดยตรงจากหลวงปู่มั่นเพียงครั้งเดียว

        ท่านว่าวันที่ได้พบหลวงปู่มั่นนั้นกำลังกวาดตาดอยู่ จู่ๆ พระอาจารย์มั่นเดินผ่านมาพอดี พอเห็นท่านเข้าก็รีบหลบหน้าด้วยความเกรงกลัว แต่ท่านพระอาจารย์มั่นได้เรียกไว้ก่อนว่า “หยุดก่อนๆ พระน้อย อย่าเดินหนี อย่ากวาดเร็ว มันไม่สะอาด” แล้วท่านก็ได้ถามขึ้นว่า “มาจากจังหวัดไหน” เมื่อกราบเรียนว่า”มาจากบุรีรัมย์ ขอรับ” ท่านก็ว่า “เพิ่งเห็นพระมาจากบุรีรัมย์” แล้วท่านก็มีคำอีกว่า “ไล่ทหารหรือยัง” จึงกราบเรียนว่า “เรียบร้อยแล้วครับ” จากนั้นท่านได้กำชับขึ้นว่า “อย่าหนีน่ะ อย่ากลับบ้านน่ะ ถ้ากลับบ้าน ก็จะกลายเป็นคนบ้า”

        “การภาวนาอย่านอน 3 ทุ่ม 4 ทุ่มจึงนอน นอนตื่นเดียวไม่ให้นอนซ้ำ เมื่อตื่นขึ้นให้ภาวนาต่อ ก่อนภาวนาต้องมีสติ เอาใจใส่ต่องานที่เราทำ อย่าทำแบบลวกๆ กลางวันอย่านอน ให้เดินจงกรมนั่งสมาธิ ให้ไปทำหลังวัดที่เป็นป่ากระบาก นอกจากนั้นให้ไปที่ถ้ำพระบ้านนาใน เป็นถ้ำที่มีเสือเดินผ่าน ด้วยความกลัวจะทำให้จิตเป็นสมาธิเร็ว อย่าขี้เกียจ”

         นี่เป็นธรรมโอวาท ที่หลวงปู่มั่นเมตตาเทศนาอบรมพระภิกษุใหม่รูปนี้ แม้จะเป็นการรับธรรมเทศนาตรงเพียงครั้งเดียวแต่ศิษย์รูปนี้ก็ได้น้อมนำมาเป็นประทีปส่องทางให้แก่ชีวิตมาตลอด

         ช่วงเดือนเศษนั้นท่านยังได้รับเมตตาจาก พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นพระพี่เลี้ยง อบรมกรรมฐานให้

         หลวงปู่จันทร์แรมเจริญในธรรมมากระทั่งเป็นพระมหาสมณะ เป็นประทีปธรรมแก่สาธุชนในแถบอีสานใต้ กระทั่งวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลวงปู่จึงได้แสดงธรรมอันยิ่งใหญ่ต่อโลก โดยทิ้งธาตุขันธ์ อันเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ทำงานมาก ก่อตัวขึ้นมามาก มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 87 ปี หลังเข้ารับการรักษาอาการอาพาธในห้องไอซียู โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา

          ทิ้งไว้แต่ตำนานการเป็นจันทร์เต็มดวง เป็นหนึ่งในผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิก ตามวิถีที่พระพุทธองค์และพระสุปฏิปันโนผู้เป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์นำพาดำเนิน และได้มีปรารถให้มีการสร้างวัดเกาะแก้วธุดงคสถาน(วัดระหาร)ขึ้นมา โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็นพุทธเจดีย์ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ยังไม่มีเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเลย และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่ทั่วไปได้มีโอกาสมากราบสักการบูชา เพื่อเป็นเครื่องหมายการระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกทั้ง เพื่อเป็นสักขีพยานว่าหลวงปู่และผู้ที่มีส่วนแห่งบุญทุกคนได้ร่วมกันสร้างพระมหาเจดีย์นี้ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการบำเพ็ญบารมี

          วัดระหาน (เกาะแก้วธุดงคสถาน) อยู่ที่ ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ภายในวัดประดิษฐานพระมหาธาตุรัตนเจดีย์ เพื่อเป็นปูชนียสถานระลึกถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ลักษณะขององค์พระมหาเจดีย์ เป็นศิลปะประยุกต์ร่วมสมัย ความสูง ๖๐ เมตร มี ๔ ชั้น

ชั้นที่ ๑ ใช้ประโยชน์เป็นศาลาอเนกประสงค์

 ชั้นที่ ๒ เป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

 ชั้นที่ ๓ เป็นอุโบสถ พิพิธภัณฑ์และที่ประดิษฐานรูปเหมือนของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

 ชั้นที่ ๔ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระสังฆนายกฝ่ายสยามวงศ์ และพระอัครมหาบัณฑิต วิมละรัตนะ เจ้าอาวาสวัดศรีเวฬุวนาราม ประเทศศรีลังกา ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุและหน่อพระศรีมหาโพธิ์ แก่พระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ) เมื่อปี ๒๕๔๗ ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ปลูกไว้ด้านหลังพระมหาธาตุรัตนเจดีย์

ภายในวัดเกาะแก้วธุดงคสถาน เป็นสถานที่สงบร่มรื่น และมีนกยูงอาศัยอยู่จำนวนมาก เหมาะสำหรับพุทธศาสนิกชนที่ต้องการไปกราบไหว้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทำบุญและปฏิบัติธรรม

 

อ้างอิง

คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์. (2553). บุรีรัมย์ ภูมิหลังประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม. สภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์

https://www.posttoday.com/dhamma/4877

                

                       

อื่นๆ

เมนู