ข้าพเจ้านางสาวปริญญารัตน์ จันทร์สิงห์ ประเภทประชาชน ทีมปฏิบัติงานตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โครงการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตรในชุมชน ณ ศาลาประชาคมบ้านบุ ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบติดตามผลของโครงการ ในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านขาม และ หมู่ที่ 17 บ้านสะแก ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์        

 

 

 

 

 

ธนาคารน้ำใต้ดิน มักกล่าวถึงกันมากในช่วงไม่นานมานี้ เป็นวิธีการในการจัดการน้ำแบบหนึ่ง โดยอาศัยหลักการเติมน้ำผิวดินช่วงที่มีน้ำเยอะในหน้าฝนลงกักเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำตื้น อาจเป็นชั้นกรวดทราย หรือชั้นหินที่มีความพรุนสูง (สามารถกักเก็บน้ำได้) ผ่านการเปิดชั้นผิวดินที่มีความพรุนต่ำ เป็นผลทำให้ระดับใต้ดินน้ำเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มศักยภาพของแหล่งน้ำใต้ดินระดับตื้น ซึ่งเพิ่มโอกาสการใช้น้ำในช่วงหน้าแล้งได้

ประเทศไทยได้มีการศึกษา ทดลอง ระบบการเติมน้ำลงใต้ดินในหลายรูปแบบ ในหลายพื้นที่มานานแล้ว ดังตัวอย่างที่มีการจัดการน้ำด้านการเกษตร ด้วยระบบเติมน้ำจากหลังคาลงใต้ดิน ลงกักเก็บชั้นทราย ลึกประมาณ 14 เมตร มานานกว่า 30 ปี และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนา จนทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น เพียงพอใช้น้ำใต้ดินในการทำนานอกฤดู

ประโยชน์ของธนาคารน้ำใต้ดินที่ช่วยแก้ปัญหาพื้นที่แล้ง (การใช้น้ำด้านการเกษตรในหน้าแล้ง) และลดความสูญเสียจากน้ำท่วมในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พบว่าช่วงที่ผ่านมาภาครัฐให้การสนับสนุน มีการจัดอบรมให้ความรู้กับเยาวชน นักเรียน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแพร่หลาย

หลักความจริงของธนาคารน้ำใต้ดิน

การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ตำแหน่งบ่อหรือสระเพื่อทำหน้าที่เติมน้ำ สามารถทำได้เฉพาะสภาพพื้นที่บริเวณที่มีลักษณะสภาพใต้ดินสามารถกักเก็บน้ำได้เท่านั้น นั่นคือ การจัดการน้ำแบบธนาคารน้ำใต้ดิน จะไม่สามารถทำได้ทุกพื้นที่ บริเวณที่เหมาะสมจะต้องมีชั้นตะกอนหรือหินมีความพรุนสูง หรือมีชั้นรอยแตกในเนื้อหินสูง สามารถกักเก็บน้ำได้ เช่น ชั้นกรวดทราย หรือรอยต่อระหว่างชั้นหินต่างกัน การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมกับระบบธนาคารน้ำใต้ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องประยุกต์เทคโนโลยีสแกนหาสภาพทางธรณีวิทยาใต้ดินก่อน จึงจะทำให้ทราบ ขอบเขต ความลึก/หนา ของแนวเขตชั้นกรวดทราย หรือขอบเขตที่มีชั้นที่สามารถกักเก็บน้ำใต้ดิน

ควรวิเคราะห์องค์ความรู้ทางอุทกธรณีวิทยาน้ำใต้ดินในการออกแบบสร้างระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินตื้น ที่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ ตำแหน่งแหล่งเติมระบบน้ำใต้ดิน ทิศทางที่น้ำใต้ดินไหลผ่าน และไหลออกจากระบบน้ำใต้ดินในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดตำแหน่งที่จะเติมน้ำ และวางแผน การใช้พื้นที่ได้อย่างเหมาะสม การนำเอาวัสดุที่ไม่เป็นธรรมชาติและเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม เช่น ยางรถยนต์เก่า ขวดน้ำพลาสติก ฝังกลบใต้ดินเพื่อเพิ่มช่องว่างกักเก็บน้ำ และมีการเผยแพร่สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ถ้าปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลเพิ่มความเสี่ยงการปนเปื้อน โลหะหนัก สารเคมี จากยางเก่าและพลาสติก การตรวจวัดคุณภาพน้ำใต้ดินบริเวณที่ฝังกลบยางหรือขวดเก่า ไม่น่าตอบโจทย์ในช่วงระยะสั้น อีกอย่างต้องคำนึงถึงการไหลตลอดเวลาของชั้นน้ำใต้ดิน อนึ่ง การเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำควรเป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น หิน หรือกรวดแม่น้ำ เป็นต้น

 

การอ้างประโยชน์จากธนาคารน้ำใต้ดิน บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสภาพน้ำใต้ดินเค็มอยู่แล้ว ว่าช่วยเปลี่ยนคุณภาพน้ำเค็มในพื้นที่ให้เป็นน้ำจืดได้ จากการให้น้ำจืดดันหรือกดน้ำเค็มลงระดับล่าง เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากน้ำใต้ดินเค็มเกิดจากการละลายเกลือหินระดับลึกตลอดเวลา และชั้นน้ำใต้ดินก็มีการไหลเคลื่อนที่ตลอดเวลา มีแต่จะเพิ่มโอกาสการแพร่กระจายของน้ำเค็มมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ผลกระทบจากการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินที่เกิดขึ้น อาจจะไม่เป็นบวกอย่างเดียว ธรรมชาติของชั้นน้ำใต้ดินเป็นระบบที่ซับซ้อน ขึ้นอยู่กับสภาพชั้นดิน/หิน และภูมิประเทศ บางครั้งยากที่จะอธิบายความสัมพันธ์กัน ระหว่างบ่อเติม-บ่อรับน้ำ ของระบบธนาคารน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่เดียวกัน หากมีการสร้างบ่อเติมจำนวนมาก ก็คงน่าจะดี แต่บางพื้นที่พบว่า มีผลกระทบด้านลบ เช่น ทำให้น้ำในบ่อน้ำบาดาลที่กำลังใช้งานอยู่เดิมหายไป เป็นต้น

หากการก่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดินไม่มีความเหมาะสมตามหลักวิชาการ พื้นที่ไม่มีชั้นกักเก็บน้ำใต้ดิน เช่น เป็นชั้นดินเหนียว ไม่ทำหน้าที่เติมกลับลงในชั้นน้ำใต้ดิน หรือที่ใส่วัสดุเพิ่มช่องว่างกักเก็บ แต่มีดินไหลไปอุดตันตามช่องว่าง ดังนั้น หลักการสุดท้าย เมื่อไม่มีธนาคารให้เก็บ จึงแนะนำให้ใช้ทฤษฎี “ทำใจ” อย่างน้อย ก็มีบ่อ/สระ เก็บน้ำ เผื่อเหลือน้ำไว้ใช้ถึงในหน้าแล้งก็ยังดี  

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดสามารถทำได้ทั้งในพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เนื่องจากปัจจุบันชุมชนเมืองขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและถนนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ระดับต่ำกว่าเกิดความเสียหายในเรื่องน้ำท่วมขัง การระบายน้ำ หรือน้ำเน่าเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาน้ำเสียที่ท่วมขังในชุมชนเมือง ขณะเดียวกันแนวคิดนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและปัญหาขาดแคลนน้ำหรือสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกด้วย ปกติแล้วพื้นที่การเกษตรแต่ละปีมักจะมีฝนตกอยู่ 5-6 เดือน ในพื้นที่ 1 ไร่ จะรับน้ำฝนที่ตกลงมาได้ราว 2,500 ลูกบาศก์เมตร น้ำฝนที่ตกจากที่สูงไหลลงพื้นที่ต่ำ พื้นที่สูงจึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ขณะที่พื้นที่ต่ำกลายเป็นแหล่งรวมน้ำฝนจนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่การเกษตรจึงช่วยเก็บน้ำส่วนเกินลงสู่ใต้ดิน นอกจากลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่การเกษตรอีกด้วย

ในการปฏิบัติงานของโครงการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้พบปัญหาเรื่องฝนตกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ซึ่งส่งผลกระทบกับธนาคารน้ำใต้ดินโดยตรง เพราะทำให้ประสิทธิภาพของน้ำที่ซึมลงไปในธนาคารน้ำใต้ดินนั้นช้าพอสมควร เนื่องจากธนาคารน้ำใต้ดินได้จัดสร้างขึ้นในที่กลางแจ้ง แต่ก็ไม่เป็นปัญหากับผู้ร่วมโครงการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินเลย ต่างแสดงความขอบคุณ และแสดงความพอใจเป็นอย่างมากที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้มีโครงการนี้เกิดขึ้นอีก เพื่อจะได้เพิ่มจำนวนการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินให้มากขึ้น

ในการปฏิบัติงานและการดำเนินโครงการครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รับความร่วมมือจากทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลปราสาททุกคน ที่ร่วมด้วยช่วยกันทำให้การดำเนินโครงการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี ในการติดตามผลของโครงการ ถือว่าการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชน ลดการส่งกลิ่นเหม็น น้ำท่วมขัง ส่งผลดีต่อสุขภาพของคนในชุมชนอีกด้วย

 

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู