มาตรฐาน GMP เพิ่มความรู้ให้กับผู้ประกอบการอาหารท้องถิ่น
ศศกรณ์ หอมเนียม
มาตรฐาน GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice หมายถึง มาตรฐานในการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อควบคุมการผลิตอาหารด้วยข้อกำหนดต่างๆ ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้อาหารที่มีมาตรฐานเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย อีกทั้งมาตรการ GMP จะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่เกิดกับกระบวนการผลิตอาหาร ทั้งเรื่องของสิ่งเจือปน อาหารเป็นพิษ และความไม่ปลอดภัยที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย
ที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการอาหารท้องถิ่น ที่ตำบลโคกเหล็ก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ มีการบรรยายในหัวข้อมาตรฐาน GMP สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร โดย คุณสัญญา พวงระย้า เจ้าของกิจการสวนบริบูรณ์ และคุณครูพรพิมพ์ วิเศษรัมย์ โดยสวนบริบูรณ์ ดำเนินกิจการครบวงจร ปลูก แปรรูป และจำหน่าย สินค้าเด่นคือ แก่นตะวันปลูกด้วยมาตรฐาน GAP แปรรูปเป็นชาแก่นตะวัน เป็นต้น โดยวิทยากรทั้งสองท่านได้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดพื้นฐาน ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับสถานที่ผลิตอาหารทุกประเภท โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ผลิตมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อน หรือขจัดอันตรายทั้งทางกายภาพ เคมี และจุลินทรีย์ จากสิ่งแวดล้อม อาคารผลิต เครื่องมือหรืออุปกรณ์การผลิต ภาชนะบรรจุ ผู้ปฏิบัติงาน ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน รวมทั้งการจัดการสุขาภิบาล และสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาหารที่ผลิตมีมาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้ง ยังพูดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาให้แก่ผู้ประกอบการอาหารท้องถิ่นและผู้เข้าร่วมอบรมในตำบลโคกเหล็กฟัง เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้และสามารถนำไปปรับใช้ในการผลิตและพัฒนาอาหารนั้นๆให้มีมาตรฐานนั่นเอง
มาตรฐาน GMP มีความน่าเชื่อถือสูงมากเพราะได้รับการรับรองจากทั่วโลกแล้วว่ามีมาตรฐานที่ดีในเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิตอาหาร มีการพิสูจน์จากกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารทั่วโลกว่า GMP ทำให้อาหารจากกระบวนการผลิตมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังเป็นการรับรองว่าถ้าหากผู้ผลิตอาหารปฏิบัติตามข้อกำหนดของ GMP ทุกอย่าง จะทำให้สามารถผลิตอาหารที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค จะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานสากล และหวังว่าจะได้เห็นอาหารท้องถิ่นในตำบลโคกเหล็กได้รับมาตรฐาน GMP