ดิฉัน นางสาวทิพย์วรรณ เธียรวรรณ์ ประเภทกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร:การทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด HS01 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ โดยลงพื้นที่ปฏิบัติงานกับทีมงานและอาจารย์ประจำหลักสูตร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 น. ณ ศาลาหมู่ที่ 1 บ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อรับฟังอาจารย์ประจำหลักสูตรชี้แจงข้อมูลแบบสอบถาม และมอบหมายการปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายในครั้งนี้   

  ดิฉันและทีมงานประเภทกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 8 คน เมื่อวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ลงพื้นที่สำรวจแบบสอบถามโดย ต.หนองยายพิมพ์ มีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ซึ่งได้รับมอบหมายปฏิบัติงานลงพื้นที่ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 5 บ้านหนองยาง ,หมู่ 6 บ้านหนองถนน ,หมู่ 7 บ้านก้านเหลือง ,หมู่ 8 บ้านจาน  และหมู่ 10 บ้านหนองตารัก ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยมีการประสานงานกับผู้นำชุมชนแต่ละหมู่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือชาวบ้านในชุมชน ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริงและตอบคำถามในทุกคำถาม เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาชุมชนตามเป้าหมาย และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างยั่งยืน

  จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน ดิฉันได้พูดคุยกับผู้นำชุมชน นายกันยา อ่างสกุล และพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน ซักถาม ถึงความเป็นมาและอาชีพ ภาวะด้านเศรษฐกิจ ด้านรายได้ในครัวเรือน และจำนวนสมาชิกในครัวเรือน พบว่าชาวบ้านเป็นคนในพื้นที่อาศัยอยู่มานานหลายปี ส่วนใหญ่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ทำสวนปลูกผักสวนครัวไว้ทานกินเอง  เลี้ยงสัตว์ เช่น ควายและหมู  ส่วนใหญ่อาชีพหลักของแต่ละครัวเรือนมาจากการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุด ในการทำนาจะทำ 1 ครั้งต่อปี เพื่อใช้บริโภค อุปโภค และจัดจำหน่ายภายในชุมชนและนอกชุมชน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีที่ดินไว้ทำกินเอง ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมีหนี้สินเกือบทุกหลังคาเรือนจากการกู้ยืมเป็นบางส่วน บางครัวเรือนมีรายได้จากอาชีพหลัก อาชีพรับจ้างทั่วไป และอาชีพเสริม เช่น การจักสาน ทอเสื่อกก และการทำกล้วยฉาบ เพื่อหารายได้เพิ่มให้แก่คนในครัวเรือน และได้ซักถามเกี่ยวกับปัญหาในชุมชน ได้แก่ ปัญหาด้านยาเสพติด ด้านรายได้ แสงสว่างไม่เพียงพอ ความยากจน และอุปกรณ์การทำเกษตร  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด (COVID 19) ซึ่งเป็นผลกระทบในปัจจุบัน จึงมีความต้องการในการพัฒนาชุมชน ได้แก่ การสร้างรายได้ที่มั่นคง การมีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด มีการพัฒนาสินค้าหรือยกระดับสินค้า OTOP เช่น กล้วยฉาบ และชาวบ้านในชุมชนมีความต้องการความรู้ในการทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยในแต่ละปี และลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น ดิฉันได้สำรวจสอบถามข้อมูลแบบสอบถามในหมู่บ้านของ ต.หนองยายพิมพ์ ซึ่งชาวบ้านได้ให้ข้อมูลที่ละเอียดและข้อมูลที่เป็นจริง ทั้งนี้ข้อมูลจะถูกนำมาวิเคราะห์ในเชิงสถิติและเขียนเรียบเรียงในเชิงวิชาการเท่านั้น

สรุปได้ว่า ต.หนองยายพิมพ์ เป็นชุมชนที่มีชาวบ้านอาศัยเป็นจำนวนมากและมีวิถีการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติภาพ มีความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยส่วนมากคนในชุมชนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก และมีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่พอเพียง ซึ่งชาวบ้านทุกคนได้มีส่วนรวมในการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมสืบสานประเพณี เช่น ภาษาถิ่น และประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อให้ลูกหลานสืบทอดต่อไป เป็นต้น

อื่นๆ

เมนู