การทำเกษตรอนุรักษ์ เชิงท่องเที่ยว ตำบลตะโกตาพิ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

ข้าพเจ้า นางสาวสมปรารถนา โนประโคน บัณฑิตจบใหม่ และทีม ได้ทำการลงพื้นที่สำรวจชุมชน สำรวจการทำการเกษตรอนุรักษ์ เชิงท่องเที่ยว ในส่วนของหมู่9 บ้านหนองสะเดา ตำบลตะโกตาพิ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยในชุมชนมีการทำโครงการ พัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นาโมเดล” เป็นโครงการของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ ทุกหมู่บ้าน โดยในส่วนของหมู่9 บ้านหนองสะเดา ทางผู้ใหญ่บ้านหมู่9 บ้านหนองสะเดา ผู้ใหญ่หลี เรืองประโคน ครัวเรือนต้นแบบ หมู่9 ได้นำข้าพเจ้า และ ทีม เดินชมภายในโครงการและอธิบายความเป็นมาของโครงการนี้

โคก-หนอง-นา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ

โคก-หนอง-นา โมเดล ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังนี้

1. โคก: พื้นที่สูง
– ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ
– ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
– ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

2. หนอง: หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ
– ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก)
– ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้
– ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง
– พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

3. นา:
– พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน
– ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา

 

รูปปฎิบัติงานการลงพื้นที่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู