ข้าพเจ้านางสาวศุภากร ทรงชัยยศ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

สำหรับบทความประจำเดือนมิถุนายน 2564 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ที่ได้จากการจัดอบรมครั้งที่ 1 (ช่วงบ่าย) ซึ่งกลุ่มเกษตรปลอดภัยได้จัดกิจกรรมการอบรมภายใต้กิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างต้นแบบเพื่อพัฒนาหรือยกระดับสินค้า/ผลิตภัณฑ์ (กลุ่มเกษตรปลอดภัย)” ชื่อโครงการ ID๑๐ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย)

กลุ่มเกษตรปลอดภัยได้วางแผนการจัดอบรมให้แก่เกษตรกรในชุมชนไว้ 4 กิจกรรม โดยในแต่ละเดือนจะทำการจัดอบรมในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตรเพื่อที่เกษตรกรจะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์และต่อยอดการเกษตรของตนเองได้

ซึ่งกิจกรรมการอบรมครั้งที่ 1 จัดอบรมและให้ความรู้ในหัวข้อเรื่อง “ดินและปุ๋ย” ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ณ วัดทรงศิลาราม หมู่ 7 บ้านดอนหวาย ตำบลกระสัง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร 2 ท่าน คือ

  1. อาจารย์วงจันทร์ พูลเพิ่ม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
  2. นายสุรพงษ์ ทองเชื้อ (ข้าราชการบำนาญ) อดีตอาจารย์ประจำคณะพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์

ในการอบรมจะแบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย ซึ่งในช่วงเช้าจะเป็นการให้ความรู้เชิงทฤษฎีที่เกี่ยวกับเรื่องดินและองค์ประกอบของดิน ปุ๋ยและส่วนประกอบที่สำคัญในปุ๋ยที่สามารถช่วยให้พืชผักเจริญเติบโตได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมี ส่วนในช่วงบ่ายจะเน้นการลงมือปฏิบัติ โดยวิทยากรสอนทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอในส่วนความรู้ที่ได้จากการอบรมในช่วงบ่าย

             

ในช่วงบ่ายวิทยากรได้พาลงมือปฏิบัติทำปุ๋ยหมัก 4 ชนิด ได้แก่

  1. การผลิตปุ๋ยหมักแห้ง (โบกาฉิ)
  2. การผลิตปุ๋ยน้ำหมักจากพืช
  3. การผลิตปุ๋ยน้ำหมักจากสัตว์ (ปลา)
  4. การผลิตฮอร์โมนไข่

รายการวัสดุ ขั้นตอนการปฏิบัติและวิธีการนำไปใช้ของปุ๋ยทั้ง 4 ชนิด เป็นดังนี้

1.การผลิตปุ๋ยหมักแห้ง (โบกาฉิ) ช่วยในเรื่องของการปรับสภาพโครงสร้างดินให้ร่วนซุยและมีคุณภาพในการเพาะปลูกพืช

วัสดุ

  1. มูลไก่แห้ง
  2. รำละเอียด
  3. กากน้ำตาล
  4. หัวเชื้อEM
  5. กระสอบปุ๋ย
  6. พลั่ว จอบ
  7. บัวรดน้ำ
  8. ถังน้ำขนาด 10 ลิตร

ขั้นตอนปฏิบัติการทำปุ๋ยหมักแห้ง (โบกาฉิ)

  1. นำมูลไก่และรำละเอียดมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันตามอัตราส่วน (3:1) กองเป็นรูปสามเหลี่ยม
  2. เตรียมน้ำใส่ถังพลาสติก (10 ลิตร) แล้วเทกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม ใส่ลงไป คนกากน้ำตาลให้เข้ากับน้ำแล้วตวงจุลินทรีย์อีเอ็ม (EM) 1-2 ช้อนโต๊ะลงไปผสมและคนให้เข้ากัน
  3. นำน้ำตามข้อ 2 เทใส่บัวรดน้ำ แล้วนำไปรดบนกองวัสดุที่เตรียมไว้ตามข้อ 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยให้ความชื้นอยู่ที่ประมาณ 60% หากวัสดุจับกันเป็นก้อนถือว่าใช้ได้หากกำแล้ววัสดุแยกจากกันถือว่าแห้งไป
  4. จากนั้นเกลี่ยวัสดุกองปุ๋ยให้เป็นรูปสามเหลี่ยมปีรามิด ใช้กระสอบปุ๋ยเปล่าหรือกระสอบป่านคลุมกองปุ๋ยไว้ใช้ก้อนอิฐหรือไม้ทับด้านล่างของกระสอบปุ๋ยเพื่อป้องกันไม่ให้กระสอบเปิดออกคลุมไว้ประมาณ 5-7 วัน
  5. เมื่อครบ 5-7 วันให้เปิดกองปุ๋ยดูจะพบเส้นใยสีขาวเต็มรอบกองปุ๋ยและบริเวณกลางกองปุ๋ยจะมีอุณหภูมิสูง (40-50 องศาเซลเซียส) จากนั้นเกลี่ยกองปุ๋ยให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีความหนาประมาณ 2 นิ้ว เสร็จแล้วใช้กระสอบปุ๋ยเปล่าหรือกระสอบป่านคลุมกองปุ๋ยและใช้ก้อนอิฐหรือท่อนไม้ทับไว้เหมือนเดิมทิ้งไว้ประมาณ 5 วัน จากนั้นก็นำปุ๋ยที่ได้บรรจุใส่กระสอบปุ๋ยมัดปากให้แน่น เก็บไว้ในที่ร่มเพื่อรอนำไปใช้ต่อ

               

               

วิธีการนำปุ๋ยหมักแห้งไปใช้

  1. ใช้กับพืชผัก ขุดแปลงตรงกลางเป็นรูปสามเหลี่ยมมีความลึกประมาณ 15-30 เซนติเมตร นำปุ๋ยหมักแห้งใส่ลงไปประมาณ 3 ใน 4 ของความลึกหลุมที่ขุด จากนั้นเกลี่ยดินกลบแล้วหาเศษใบไม้หรือฟางแห้งคลุมแปลงและคอยรดน้ำวันละครั้งประมาณ 1 สัปดาห์ (7วัน) ก็ปลูกผักได้ทันที
  2. ใช้กับพืชไร่ทั่วไป เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ฯลฯ แนะนำให้ใส่พร้อมกับการเตรียมดินก้อนปลูกโดยการไถพรวนและคราดกลบ
  3. ใช้กับไม้ผล ไม้ยืนต้นและควรใส่รอบทรงพุ่มและมีวัสดุคลุมปุ๋ยอีกที

2. การผลิตน้ำหมักจากเศษพืชผัก ช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโตและกระตุ้นการเกิดรากของพืช เพิ่มคุณภาพและผลผลิตให้ดีขึ้น

วัสดุ

  1. เศษผัก
  2. กากน้ำตาล
  3. หัวเชื้อEM
  4. ตาชั่ง
  5. ถังพลาสติกขนาด 30 ลิตร (มีฝาปิด)
  6. ถังน้ำพลาสติกมีหูหิ้วขนาด 10 ลิตร
  7. น้ำเปล่า
  8. ช้อนโต๊ะ 1 คัน

ขั้นตอนการปฏิบัติทำปุ๋ยน้ำจากเศษพืชผัก

  1. เตรียมเศษผักที่เหลือใช้จากครัวเรือน ตลาดสดนำมาสับให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยตามจำนวนที่ต้องการ
  2. นำเศษผักที่เตรียมไว้ตาม ข้อ 1 ไปชั่งจำนวน 3 กิโลกรัม (3 ส่วน) ใส่ลงไปในถังพลาสติกมีฝาปิด (30 ลิตร)
  3. นำน้ำเปล่าใส่ลงไปในถัง 10 ลิตร ตวงกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำคนให้เข้ากับจากนั้นตวงสาร จุลินทรีย์ อีเอ็ม (EM) 1-2 ช้อนโต๊ะ (10-20 ซีซี) ใส่ลงไปในถังที่มีน้ำและกากน้ำตาลอยู่แล้วคนให้เข้ากัน
  4. นำส่วนผสมที่ได้จาก ข้อ 3 เทลงในถังที่มีเศษผักตาม ข้อ 2 จนท่วมเศษผัก ด้านบนของถังให้ใช้ไม้ทำเป็นกากบาทกดทับชิ้นส่วนเศษผักให้จมน้ำแล้วปิดฝาถัง
  5. ให้เปิดฝาถังที่หมักเศษผักทุกวัน ๆ ละประมาณ 10-20 นาที แล้วปิดฝาไว้คืน ทำแบบนี้จนกระทั้งครบ 10-15 วัน (ควรวางในที่ร่มและแสงส่องไม่ถึง) จึงนำปุ๋ยน้ำจากเศษผักไปใช้ได้

วิธีการนำปุ๋ยน้ำจากเศษผักไปใช้

  1. กรองเอาน้ำปุ๋ยแยกออกจากชิ้นส่วนของผัก บรรจุใส่ถังที่มีฝาปิด หรือขวดพลาสติก (ขวดน้ำดื่มหรือขวดน้ำอัมลม) เก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวกแล้วจึงนำไปใช้ต่อไป
  2. ใช้กับพืชผัก (เหมาะกับพวกผักหรือพืชที่กินใบ) ตวงปุ๋ยน้ำที่ได้ 2-5 ช้อนต่อน้ำ 5-10 ลิตรใส่บัวรดน้ำ รดที่โคนต้นหรือใบแนะนำให้รด 2 ครั้ง/สัปดาห์
  3. ใช้กับพืชไร่ทั่วไป เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ฯลฯ ให้ผสมกับถังพ่นฉีดพ่นที่ใบ (ในระยะที่ยังไม่ออกดอก) ปุ๋ยน้ำ 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

3.การผลิตน้ำหมักจากสัตว์ (ปลา) ช่วยส่งเสริมให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีและเร่งอัตราการเจริญเติบโตของรากและลำต้นพืชได้ดี

             

          วัสดุ

  1. เศษหัวปลา ผุงปลา ไส้ปลา ฯลฯ
  2. กากน้ำตาล
  3. หัวเชื้อEM
  4. ตาชั่ง
  5. ถังพลาสติกขนาด 30 ลิตร (มีฝาปิด)
  6. ถังน้ำพลาสติกมีหูหิ้วขนาด 10 ลิตร
  7. น้ำเปล่า
  8. ช้อนโต๊ะ 1 คัน

ขั้นตอนการปฏิบัติการทำปุ๋ยน้ำจากเศษเหลือของปลา

  1. นำเศษปลาที่เหลือหรือไม่ใช้แล้วจากครัวเรือนหรือตลาดสด เช่น หัวปลา พุง ไส้ ก้าง ฯลฯ เอาส่วนที่กล่าวมาชั่งหรือตวง
  2.  เตรียมถังพลาสติกมีฝาปิด (30 ลิตร) นำเศษปลาที่เตรียมไว้ตามข้อ 1 ใส่ลงในถัง 30 ลิตร โดยชั่งเศษปลา 3 กิโลกรัม (3 ส่วน)
  3. เตรียมถังน้ำ 10 ลิตร ใส่น้ำเปล่าลงไปชั่งหรือตวงกากน้ำตาล 2 กิโลกรัม (2 ส่วน) ใส่ลงผสมกับน้ำคนให้เข้ากันจากนั้นตวงหัวเชื้อจุลินทรีย์ อีเอ็ม (EM) 2-5 ซีซี (20-50 ซีซี) เทใส่ในถังที่มีน้ำ กากน้ำตาลคนทั้ง 3 อย่างให้เข้ากัน
  4. นำส่วนผสม ทั้ง 3 อย่าง ที่ได้จากข้อ 3 เทใส่ในถังที่มีเศษปลาคนให้เข้ากันใช้ไม้ทำเป็นกากบาตร กดส่วนของชิ้นส่วนเศษปลาให้จมน้ำ ไม่ต้องปิดฝาให้มิด เผยอฝาถังไว้ให้มีช่องอากาศผ่านเข้าออกได้ (เป็นการระบายก๊าซจากการหมัก) ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน เปิดฝาคนชิ้นส่วนทุกวัน เมื่อครบกำหนด กรองเอาเฉพาะน้ำปุ๋ยใส่ภาชนะหรือขวดพลาสติกเก็บไว้ในที่ร่มแดดส่องไม่ถึงรอนำไปใช้ต่อไป

วิธีการนำปุ๋ยหมักจากเศษปลาไปใช้

  1. เนื่องจากปุ๋ยหมักจากเศษปลามีความเข้มข้นสูง การนำไปใช้ควรใช้ในปริมาณน้อย ๆ หากใช้ในอัตราส่วนที่มากอาจมีผลต่อต้นพืชได้ (ข้อแนะนำ : ควรกรองน้ำปุ๋ยหลาย ๆ ครั้งก่อนใช้เนื่องจากปุ๋ยจากเศษปลาจะมีไขมันปนมาด้วย)
  2. ใช้กับพืชผัก อัตราส่วนน้ำปุ๋ย 1-2 ช้อนโต๊ะ (10-20 ซีซี) ต่อน้ำ 10-20 ลิตร ใส่บัวรดน้ำหรือเครื่องพ่นสาร โดยฉีดพ่นรด 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  3. ใช้กับพืชไร่ทั่วไป แนะนำให้ใช้เครื่องพ่นที่ใบหรือลำต้น 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  4. ใช้กับไม้ผล ไม้ยืนต้น ใช้ฉีดพ่นทางใบและราดที่ทรงพุ่มและใช้วัสดุคลุมทับอีกชั้นหนึ่ง

4.การผลิตฮอร์โมนไข่ ช่วยให้พืชแข็งแรง เร่งให้พืชออกดอกไวและออกผลดก ช่วยให้พืชมีภูมิต้านทานต่อโรคและแมลง ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดี

(ที่มารูปภาพ : www.kasetnature.com)

วัสดุ

  1. เปลือกไข่ 5 กิโลกรัม (1กิโลกรัม)
  2. ยาคูลท์ 1 ขวด
  3. ลูกแฟง ท้าวหมาก 5 เม็ด(ลูก)
  4. กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม (1กิโลกรัม)
  5. ถังพลาสติกขนาด 30 ลิตร (มีฝาปิด)
  6. ถังน้ำพลาสติกขนาด 1 กิโลกรัม
  7. ยางยืด

ขั้นตอนการปฏิบัติการทำฮอร์โมนไข่

  1. นำไข่ไก่พร้อมเปลือก (ทั้งฟอง) 1 แผง ใส่ลงไปในถังพลาสติก ขนาด 10 ลิตร บดไข่ทั้งเปลือกให้ละเอียด
  2. เทกากน้ำตาลที่ตวง 1 กิโลกรัม ใส่ลงไปในถังพลาสติกที่บดไข่พร้อมเปลือกคนให้เข้ากัน
  3. นำลูกแป้งข้าวหมากมา 1 ลูก บดให้ละเอียดใส่ลงไปในถังตาม ข้อ 2 คนให้เข้ากัน
  4. เติมยาคูลท์ (400 มิลลิเมตร) 1 ขวด ลงไปในถังพลาสติก ตามข้อ 3 คนให้เข้ากัน
  5. นำวัสดุที่ได้ตามข้อ 1-4 ทั้งหมดใส่ในถุงพลาสติกใสขนาด 11×22 แล้วใช้หนังยางรัดปากถุงให้แน่น นำไปวางไว้ในที่ร่มและมีการระบายอากาศดี ประมาณ 7 วันก็สามารถนำไปใช้ได้เลย

             

วิธีการใช้ฮอร์โมนจากไข่

  1. ใช้กับพืชผักบำรุงต้นให้สมบูรณ์ก่อน จึงนำฮอร์โมนไปฉีดพ่น (ทางใบ) ใช้ฮอร์โมน 5-10 ซีซี (1-2 ช้อนโต๊ะ) ควรฉีดพ่นก่อนเวลา 09.00 น.
  2. สำหรับพืชชนิดอื่นก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 1 แต่ไม่ควรฉีดพ่นฮอร์โมนขณะพืชกำลังออกดอกเพราะจะทำให้พืชเสียหาย

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สามารถหาได้ง่ายจากครัวเรือนของทุก ๆ ท่าน รวมถึงขั้นตอนวิธีการทำปุ๋ยหมักก็เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก สามารถลองทำตามกันได้นะคะ นอกจากจะเป็นการประหยัดงบในการทำการเกษตรแล้วยังช่วยให้ได้ผลลัพธ์ทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัยจากสารเคมีอีกด้วยค่ะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุก ๆ ท่านนะคะ 🙂

            

ลิงก์แบบทดสอบประจำเดือนมิถุนายน https://forms.gle/NPMaUZ9wkEiwFzEV7

อื่นๆ

เมนู