“ตูมตัง” พืชประจำถิ่นในป่าชุมชนกับที่มาของชื่อตำบล “ตูมใหญ่”

          ตำบลตูมใหญ่ เป็นตำบลในการดูแลของอำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ จำนวน 19 หมู่บ้าน
มีพื้นที่ตำบลประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 45,000 ไร่ ถือว่าเป็นตำบลที่ค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งในพื้นที่อันกว้างขวางของตำบลตูมใหญ่นี้มีสิ่งที่ถือว่าเป็นความสำคัญของพื้นที่ในตำบลอย่างหนึ่งเลยก็คือ “ป่าชุมชน” หรือ “ป่าสาธารณะ” นั่นเอง

          ป่าชุมชน (Community Forestry) คือ การให้ชุมชนท้องถิ่นที่มีชีวิตสัมพันธ์กับป่าได้มีส่วนร่วมกับรัฐในการใช้ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายเพื่อการอนุรักษ์ การจัดการ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน (วรชัย แสนสีระ.2552)  ซึ่งในตูมใหญ่มีพื้นที่ป่าชุมชนประเภทป่าเต็ง-รังอยู่หลายแห่งด้วยกัน ซึ่งดิฉันจะขอยกตัวอย่าง 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ป่าสาธารณะบริเวณบ้านหนองตาด-หนองไผ่ดง (พิกัด : 15.233093, 103.114456) เป็นป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 มีเนื้อที่ป่าประมาณ 359 ไร่ และบริเวณที่ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านตูมน้อย (พิกัด : 15.168563, 103.125578) มีเนื้อที่ป่าประมาณ 210 กว่าไร่  โดยป่าเหล่านี้เป็นการอนุรักษ์ป่าตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านของการปลูกป่าแบบ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” นอกจากนี้ป่าชุมชนยังมีแนวโน้มที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เช่น การพัฒนาเป็นทางเดินเชิงนิเวช หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเผยแพร่การอนุรักษ์ การศึกษาพันธุ์พืช และการใช้ประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในอนาคตได้

วิดิโอ ป่าสาธารณะบริเวณบ้านหนองตาด-หนองไผ่ดง
          “ต้นตูมตัง” เป็นพืชพื้นถิ่นชนิดหนึ่งของตำบลตูมใหญ่ซึ่งมักจะพบบริเวณป่าชุมชนนั่นเอง ตูมตัง เป็นชื่อเรียกในแถบภาคอีสาน ส่วนชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น กระแจะ พญายา(กลาง ราชบุรี) ขะแจะ (เหนือ) ตะนาว (มอญ)พุดไทร ชะแจะ กระแจะจัน พินิยา ฮางแกง หรือ ชื่อที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยก็คือ “ทานาคา” นั่นเอง

          ลักษณะ
ของต้นตูมตังเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เนื้อไม้สีขาว เปลือกต้นสีน้ำตาล ขรุขระ ลำต้นและกิ่งมีหนาม มีหนามแข็ง และยาว หนามออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ตรง ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร ไม่ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนและยอดอ่อนเกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ รูปวงรีแกมไข่กลับ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-7 เซนติเมตร ก้านใบแผ่เป็นปีก ลักษณะเป็นครีบออกสองข้าง เป็นช่วงๆ ระหว่างคู่ใบย่อย โคนและปลายใบสอบแคบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เนียน เกลี้ยง เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใสๆกระจายอยู่ทั่วไป ขอบใบหยัก เป็นซี่ฟันเลื่อย ตื้นๆ เส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น ก้านช่อใบยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบย่อย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ รวมกันเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆหรือตามซอกใบ มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ เมื่อบานจะแผ่ออกหรือลู่ไปทางก้านเล็กน้อย  กลีบดอกรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาว 7 มิลลิเมตร เกลี้ยง มีต่อมน้ำมันประปราย เกสรตัวผู้มี 8 อัน ยาว 4-6 มิลลิเมตร ยาวเกือบเท่ากันหรือสลับกันระหว่างสั้นกับยาว เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูรูปลิ่มแคบ อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปไข่ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นถึงติ่งแหลมอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกือบกลม ยาว 1-2 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมัน เกลี้ยง มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันใต้ยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 5 แฉก จานฐานดอกเกลี้ยง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 8-10 มิลลิเมตร เกลี้ยง หรือมีขน กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนละเอียด และมีต่อมน้ำมัน ด้านในเกลี้ยง ผลสด รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร เมื่ออ่อนสีเขียว แก่จัดสีม่วงคล้ำ ก้านผลยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร เมล็ดรูปเกือบกลม กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลอมส้มอ่อน มี 1-4 เมล็ด เนื้อไม้ เมื่อตัดมาใหม่ๆ จะมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ถ้าทิ้งไว้นานๆจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน ชาวพม่านิยมนำมาทำเครื่องประทินผิวเรียกว่า “กระแจะตะนาว” (ทานาคา) ซึ่งชื่อไม้ชนิดนี้เรียกตามชื่อเทือกเขา “ตะนาวศรี” ที่พบไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่ โดยทั่วไปจะพบตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ออกดอกราวเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม ผลจะแก่ราวเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม

          สรรพคุณตามตำรายาไทย  ใช้  ใบ รสขมเฝื่อน ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มกิน แก้ลมบ้าหมู ราก รสขมเย็น แก้โรคลำไส้ แก้ปวดท้องบริเวณลำไส้ใหญ่ และบริเวณลิ้นปี่ ขับเหงื่อ ฝนกับน้ำสะอาดใช้ทาหน้าแทนแป้งทำให้ผิวสีเหลือง แก้สิวฝ้า เป็นยาถ่าย ผล มีรสขมเฝื่อน แก้พิษ  แก้ไข้ แก้อาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นยาบำรุงกำลัง ยาบำรุงร่างกาย ผลสุก แก้ไข้ เป็นยาสมานแผล ยาบำรุง ช่วยเจริญอาหาร แก่น รสจืด เย็น ดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง) บำรุงเลือด แก้กระษัย แก้โลหิตพิการ ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้ผอมแห้ง  เปลือกต้น มีรสขม ใช้แก้ไข้ ขับผายลม บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น ยาพื้นบ้าน  ใช้  ต้น ต้มน้ำดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนใน แก้โรคประดง (อาการโรคผิวหนังมีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ ร่วมด้วย) และชาวพม่า  ใช้   เนื้อไม้ นำมาบด ฝน หรือทำให้เป็นผงละเอียด จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้ทาผิวหนัง ทำให้ผิวเนียนสวย เป็นส่วนผสมหลักในเครื่องประทินผิวแบบโบราณหลายชนิด ใช้ผสมในเครื่องหอม ที่เรียกว่า   “กระแจะตะนาว” นิยมใช้กันมากในประเทศพม่า


          จากลักษณะของต้นตูมตังที่กล่าวมาแล้วนั้นนอกจากจะมีประโยชน์และสรรพคุณในด้านต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ พืชพื้นถิ่นชนิดนี้ยังมีความสำพันธ์กับ “ที่มาของชื่อตำบลตูมใหญ่” อีกด้วย โดยตามคำบอกเล่าของปราชญ์ชุมชน ได้กล่าวว่า ในสมัยที่ชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตำบลตูมใหญ่ใหย่นั้น พบต้นตูมตังขนาดใหญ่ยืนต้นอยู่ ดังนั้นจึงเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “ตูมใหญ่” นั่นเอง

 

          ส่วนในด้านของการปฏิบัติงานในกลุ่ม AG01(1) ตำบลตูมใหญ่ นั้น มีรายละเอียดการปฏิบัติงาน ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ดังวิดิโอต่อไปนี้ 

อื่นๆ

เมนู