ข้าพเจ้า นางสาวศศิวลัย บุลาลม ประชาชน
หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01
การจักสาน เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยที่มีมาช้านาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น หวาย ไม้ไผ่ กก ฯลฯ เพื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องมือใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันนี้ วัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เริ่มหาได้ยากขึ้น จึงได้มีการประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ให้เข้ากับสภาวการณ์ปัจจุบัน คือ การนำเส้นพลาสติกมาใช้แทนวัสดุที่ได้จากธรรมชาติ เพราะพลาสติกจะมีความแข็งแรงคงทน และหาได้ง่าย นอกจากจะสานเป็นกระบุงแล้ว สามารถนำมาประยุกต์เป็น กระเป๋า ตะกร้าลายสวย ๆ ได้อีกหลายแบบ
การจักสานถือเป็นอาชีพที่กลุ่มผู้สูงอายุและชาวบ้าน ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้หารายได้ ในยามที่ว่างจากการทำสวน ทำไร่ คนในชุมชนรู้จักและมีภูมิปัญญาในการทำจักสานเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งจากการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่มีการจักรสานวัสดุหวาย ไม่ไผ่อยู่แล้ว รวมถึงในปี 2557 ทางหน่วยงานเทศบาลตำบลบ้านด่านได้จัดโครงการการทำตะกร้าพลาสติกโดยได้นำวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการทำตะกร้าสานพลาสติกมาให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเทศบาลและกระจายสู่คนในชุมชนจนได้เกิดเป็นกลุ่มฝึกอาชีพอยู่ที่วัดบ้านด่าน สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการสานตะกร้า คือ 1.กรรไกร 2.เส้นพลาสติก และมีขั้นตอนและวิธีการทำดังนี้ ในการเตรียมวัสดุจะมีการเตรียมพลาสติกแม่แบบการสานตะกร้าพลาสติกตามความต้องการ เลือกสีเส้นพลาสติกให้เหมาะสมกัน จากนั้นเริ่มสานตะกร้าพลาสติกตามแม่แบบที่ออกแบบไว้ เมื่อจัดเส้นพลาสติกแล้ว ให้นำเส้นพลาสติกทุกด้านมาขัดกับลาย โดยขัดเว้นเส้น จากนั้นทำการขึ้นลายข้างตะกร้า โดยการสานจะใช้ 3 เส้นในการสาน 1 รอบ ดึงเส้นพลาสติกที่ขัดไว้มาสานกับ 3 เส้นที่ขึ้นลาย สานสลับเส้น เมื่อขัดเส้นที่ขัดไว้กับลายแล้ว ให้สานเส้นถัดไปเหมือนเดิม และเมื่อสานเสร็จแล้ว ให้บีบตามขอบของตะกร้า เพื่อทำให้เป็นทรง สำหรับการกระจายความรู้เรื่องการสานตะกร้าพลาสติกสู่ชุมชน เป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุและชาวบ้านมีรายได้ โดยแหล่งตลาดคือหน่วยงานของเทศบาลผู้สูงอายุหรือชาวบ้านสามารถนำตระกร้าที่สานเข้ามาขายในหน่วยงานเทศบาล หรือแจ้งกับทางผู้ใหญ่บ้านให้หน่วยงานเทศบาลมารับตระกร้าสานเข้าไปขายในส่วนกลาง โดยราคาที่ทางเทศบาลรับซื้อจะอยู่ที่ 50 ถึง 100 บาทเพื่อนำมาขายต่อในราคา 59 ถึง 109 บาทแล้วแต่ขนาดและรูปทรงของตะกร้า
สำหรับปัญหาที่พบในตอนนี้คือแหล่งตลาดที่กระจายสินค้าออกจากเทศบาลเนื่องจากการที่เทศบาลรับซื้อตะกร้าและตั้งขายไว้ในสำนักงาน กลุ่มลูกค้าก็มีเพียงผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมหรือผ่านไปมาในสำนักงานเทศบาล โดยจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหัวหน้าหน่วยผู้ดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพในชุมชน ได้มีการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาตระกร้าพลาสติกว่าหากพัฒนากลุ่มการตลาดเป็นการขายสินค้าออนไลน์ มีการโฆษณาสินค้า และเพิ่มมูลค้าสินค้าจากที่มีอยู่ อาจจะทำให้ตะกร้าพลาสติกของตำบลบ้านด่านได้รับความนิยมและเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนมากขึ้น รวมถึงคนในชุมชนหันกลับมาสนใจและสร้าวผลิตภัณฑ์ตระกร้าสานเข้ามาส่งขายกับทางเทศบาล หรือแหล่งตลาดอื่น ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนตำบลบ้านด่าน ในด้านสินค้าหัตถกรรม และเพื่อการพัฒนายกระดับขึ้นสู่สินค้า OTOP ประจำตำบลบ้านด่านต่อไป