ข้าพเจ้า นางสาวปรารถนา คุ้มถนอม ประเภท นักศึกษา หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01

การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมของชุมชนในตำบลบ้านด่าน ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 ข้าพเจ้าและคณะทีมงานได้สำรวจพื้นที่ทำการเกษตรของชุมชนในตำบลบ้านด่าน เพื่อที่จะได้ทราบถึงวิธีคิดปัญหา แนวทางการทำการเกษตรของชุมชน โดยคณะทีมงานได้สอบถามข้อมูลกับทางผู้นำชุมชนสมาชิกในชุมชน และลงสำรวจพื้นที่ทำการเกษตรในชุมชน

จากการสำรวจพื้นที่ทำการเกษตรในชุมชนตำบลบ้านด่าน พบว่าสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่มีการทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย เป็นต้น แต่ก็มีสมาชิกในชุมชนบางส่วนที่เปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกข้าว ปลูกผลไม้ เลี้ยงสัตว์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยหมักน้ำ การผลิตน้ำหมักชีวภาพ การเผาถ่าน และมีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสมาชิกในชุมชนได้นำมาใช้ในการดำรงชีวิตแบบพอประมาณ ไม่มีหนี้สิน ทำการเกษตรตามวิถีชาวบ้าน ไม่ใช้สารเคมี ใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัว รู้จักคิดวิเคราะห์ ศึกษาค้นคว้า แสวงหาความรู้ใหม่ๆมาใช้ในการทำการเกษตร โดยใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น ในชุมชนบ้านตะโคง นายสมชาย ชะรอยรัมย์ ได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำการเกษตร เขานั้นได้เข้าอบรมแนวทางการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน จึงได้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตร ในตอนเริ่มต้นทำนั้นเขาเกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสูตรน้ำหมักที่ทำมีอัตราส่วนไม่เหมาะสม ดินมีลักษณะเป็นดินดาน การปลูกผักผลไม้ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศ ทำให้เขาทดลองทำเป็นเวลานานกว่าจะประสบผลสำเร็จได้

จากข้อมูลที่ได้ทราบจากการสำรวจ คณะทีมงานได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญของข้อมูล จึงได้เก็บรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยคณะทีมงานขอเสนอให้มีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ในชุมชน รวมถึงให้ความรู้เรื่องการทำน้ำหมัก การปรับปรุงสภาพดินแนะนำผักผลไม้ชนิดต่างๆที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในชุมชนและการให้ความรู้เกี่ยวกับการนำผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรไปแปรรูปหรือส่งออกในลักษณะต่างๆ ให้มีความหลากหลายและน่าสนใจ เพื่อที่สมาชิกในชุมชนจะได้มีความรู้และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำเกษตรกรรมในชุมชนทำให้มีรายได้เสริมหรืออาจกลายเป็นอาชีพหลักที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน   

         

 

 

 

 

     

 

 

 

อื่นๆ

เมนู