ข้าพเจ้านางสาวปวีณา พันธ์คูณ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ

ดิฉันได้รับมอบหมายให้ทำงานในพื้นที่ของตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ชื่อโครงการ ID10 “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” ซึ่งตำบลกระสัง มีทั้งหมด 19 หมู่บ้าน โดยดิฉันได้รับมอบหมายทำงานในพื้นที่ของหมู่ 3 บ้านไทรโยง หมู่ 10 บ้านกลันทา และหมู่ 19 บ้านไทรโยงเหนือ ในหัวข้อ “การยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนโบราณบ้านไทรโยง” โดยมีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลของชุมชนโบราณบ้านไทรโยงเชิงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของตำบลกระสัง ให้เป็นที่รู้จักเพื่อต่อยอดและพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต

     

     โดยตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 – เดือนตุลาคม 2564 ดิฉันได้ลงพื้นที่ทำงานในหลายด้าน ทั้งการเก็บข้อมูลชุมชน แบบฟอร์ม 01 แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน เพื่อนําข้อมูลที่ได้มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของชุมชน เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาชุมชนตามเป้าหมาย แบบฟอร์ม 02 แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และการเก็บข้อมูล CBD ในด้านต่างๆ ของชุมชน

      

         

     การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับคนในชุมชน โดยจะดำเนินการจัดการอบรมทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งดิฉันและทีมงานได้จัดการอบรมในพื้นที่ที่รับชอบไปแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่

การอบรมครั้งที่ 1 การจัดอบรมทักษะ ความรู้เรื่องต้นไผ่ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน

การอบรมครั้งที่ 2 การจัดอบรมทักษะ ความรู้เรื่องการประดิษฐ์โคมไฟจากต้นไผ่ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน

การอบรมครั้งที่ 3 การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการปรับภูมิทัศน์ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน

   

     

     

     การฝึกทักษะเพิ่มความรู้ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการเงิน ทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทักษะด้านสังคมและทักษะด้านดิจิทัล

สิ่งที่ได้รับจากการทำงาน

จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้ให้ดิฉันได้รับประสบการณ์การเรียนรู้หลายอย่าง

– ได้ลงพื้นที่เข้าไปในชุมชน ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เห็นบริบทสภาพพื้นที่ของชุมชนที่ยังมีการทำการเกษตรอยู่มาก  เห็นได้จากบริเวณรอบๆตัวชุมชนเป็นพื้นการทำนาปลูกข้าว การปลูกพืชผักบริเวณตัวบ้าน การเลี้ยงสัตว์ ไก่ ไก่ชน เป็ด โค กระบือ และสุกร ทำให้ทราบได้ว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และมีรายได้หลักมาจากผลผลิตที่ได้จากการเกษตร

– ได้รับประสบการณ์การการเข้าหาผู้คน จากการเข้าไปพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ กับคนในชุมชน  ได้พูดคุยกับคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ที่จะอยู่บ้านตลอดไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้านแล้ว  ได้รับการต้อนรับที่ดี รู้สึกได้ว่าท่านมีความสุขที่มีคนเข้าไปคุยด้วย ทำให้ได้นั่งพูดคุยกันนาน เพราะคนรุ่นนี้มีเรื่องเล่ามากมาย และสนุกกับการได้พูดคุยกับผู้อื่น  ได้พูดคุยกับคนรุ่นลุง ป้า น้า อา ที่ทำการเกษตรอยู่ที่บ้านก็จะมีเวลาอยู่บ้านที่ไม่แน่นอน ซึ่งเวลาส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ไร่นา ที่สวน ส่วนใหญ่จะได้พูดคุยช่วงพักเที่ยง หรือ ช่วงเย็นที่กลับจากการทำไร่ ทำสวน จากการพูดคุยก็จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับคนในชุมชน สถานการณ์ของชุมชน และคนวัยทำงานที่ทำงานนอกพื้นที่ชุมชน จะเจอได้ก็ต้องรอช่วงเย็นหลังเลิกงานซึ่งส่วนใหญ่จะเลิกงานค่ำทำให้ไม่ค่อยได้เจอกับคนกลุ่มนี้มากนัก หรือไม่ก็ต้องเจอในวันหยุดพักทำงาน เช่นวันอาทิตย์ จะพูดคุยได้ไม่มากนักเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยสะดวกเรื่องเวลาในการพูดคุยมากนัก

– ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันของคนหลายกลุ่ม การประสานงานร่วมกับผู้นำชุมชนได้รับความร่วมมือดีจากเรื่องที่ทีมงานต้องเก็บข้อมูลชุมชนรายบุคคล ครัวเรือนของคนในชุมชนก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร ครัวเรือนในชุมชน และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆในชุมชนของทีมงาน ก็ได้ผู้ใหญ่บ้านช่วยประกาศเสียงตามสาย เชิญชวนให้คนในชุมชนมาเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจากการดำเนินการจัดกิจกรรมมาแล้วก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในชุมชน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อยู่ตลอด  การทำงานร่วมกับคนในชุมชน ในช่วงที่ทีมงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามบ้านเรือนก็จะได้รับความช่วยเหลือจากคนในชุมชนตลอด ช่วยบอกตำแหน่งบ้านของในชุมชนว่าบ้านใครอยู่ตรงไหน แต่ละบ้านมีคนอยู่ไหม สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้ไหม  หน่วยงานอื่นภายนอกชุมชนที่กลุ่มดิฉันได้ประสานงานด้วยไม่มีปัญหาอะไร ได้รับการตอบรับช่วยเหลือเป็นอย่างดี และการทำงานร่วมกันของคนในทีมงานก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีสมาชิกในทีมที่เป็นคนในพื้นที่ที่รับผิดชอบจึงทำให้การทำงานในพื้นที่ชุมชนไม่ค่อยมีปัญหาอะไร และทุกคนในทีมก็แบ่งหน้าที่กันทำงานและช่วยกันทำงานเป็นอย่างดี

– ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดทำโครงการ การจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับชุมชน การจัดทำเอกสารโครงการต่างๆ มีขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ ในการจะจัดโครงการให้กับคนในชุมชน ต้องมีการถามความต้องการของคนในชุมชนก่อน จากนั้นทีมงานประชุมวางแผนการจัดโครงการ ทีมงานจัดหาวิทยากรมาดำเนินกิจกรรมในโครงการ จากนั้นก็จัดทำกำหนดการที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะจัดขึ้น จัดทำหนังสือเรียนเชิญวิทยากร หนังสือขอใช้สถานที่ จัดทำค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ เพื่อทำรายการเบิกเงินเพื่อมาใช้ในการจัดโครงการ การทำรายการสั่งซื้อและทำใบตัดยอดการสั่งซื้อต่างๆ แล้วประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับการจัดโครงการและให้ช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนในชุมชนให้เข้าร่วมกิจกรรม ทำการจัดกิจกรรมตามกำหนดการที่วางไว้ หลังจบโครงการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน

– ได้ฝึกการเขียนบทความเกี่ยวกับการทำงานในแต่ละเดือนเพื่อเป็นการสรุป และทบทวนผลการดำเนินงานของตนเองในแต่ละเดือนทำให้เห็นว่าแต่ละเดือนตัวเราทำงานอะไรไปบ้าง ผลการดำเนินมีความก้าวหน้าไปอย่างไร ทำให้มองเห็นภาพรวมของการทำงาน และนำข้อมูลที่ได้จากการเขียนบทความไปวางแผนการทำงานเดือนต่อๆ ไปในอนาคต เพื่อให้งานดำเนินไปเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  รูปแบบการเขียนบทความที่ดีควรแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการเกริ่นนำเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะเขียนบรรยายในบทความ ส่วนที่ 2 เป็นการเขียนเกี่ยวกับเนื้อหาของบทความ เขียนถึงเรื่องที่เราต้องการจะนำเสนอให้ผู้อ่านได้รับรู้ และส่วนที่ 3 เป็นส่วนของการเขียนสรุปเกี่ยวกับเนื้อหาของบทความ รวมถึงการออกแบบแบบทดสอบประจำแต่ละเดือน โดยต้องออกแบบทดสอบให้มีเนื้อหาข้อคำถามที่สอดคล้องกับเนื้อหาในบทความที่เขียนไว้ในแต่ละเดือน ซึ่งควรออกแบบคำถามเชิงความเข้าใจ ข้อคำถามเชิงการคิดวิเคราะห์ และข้อคำถามความจำ ปะปนกันไปให้แบบทดสอบข้อคำถามที่หลากหลาย ทำให้ผู้ตอบแบบทดสอบได้เกิดการเรียนรู้จากการทำแบบทดสอบมากที่สุด

ความประทับใจต่อการทำงานในพื้นที่

ความประทับใจแรกที่มีต่อการทำงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบคือ ผู้ใหญ่บ้านของทั้ง 3 หมู่บ้านที่ให้ความช่วยเหลือในการทำงานในชุมชนเป็นอย่างดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านไทรโยง นายวิวัฒน์ ปูนรัมย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 บ้านกลันทา นายประภาส ปะรินรัมย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 19 บ้านไทรโยงเหนือ นางไสว สมใจ

ความประทับใจคนในชุมชน จากการเข้าไปเก็บข้อมูลในชุมชน ผู้คนเป็นมิตร อัธยาศัยดี และให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลเป็นอย่างดี เป็นผลทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก และรวดเร็ว โดยสามารถเก็บข้อมูลได้ประมาณ 90% ของข้อมูลที่ต้องการ รวมถึงให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ทีมงานจัดขึ้นในชุมขน ทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นทั้ง 3 ครั้ง กิจกรรมการปลูกต้นไม้ ชุมชนชมเพลิน ที่ชาวบ้านได้ร่วมกับปลูกต้นไม้ เพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สะอาด สวยงามของชุมชน

ความประทับใจบริบทสภาพพื้นที่ของชุมชน หมู่ 10 บ้านกลันทา หมู่บ้านมีความสะอาด เรียบร้อย หมู่ 19 บ้านไทรโยง หมู่บ้านมีความสะอาด มีคูน้ำล้อมรอบ ทัศนียภาพสวยงาม หมู่ 3 บ้านไทรโยง อยู่กันแบบเครือญาติ มีความใกล้ชิดกัน

ปัญหา/อุปสรรคในการทำงาน

– ปัญหาการหาอัตลักษณ์ของชุมชน ความน่าสนใจของชุมชน ยังไม่ชัดเจน ชุมชนโบราณบ้านไทรโยงที่ทีมงานจะดำเนินงานยกระดับให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่มีคูน้ำโบราณล้อมรอบ ซึ่งทัศนียภาพบริเวณคูน้ำโบราณในปัจจุบันดูไม่สวยงาม ไม่น่าดึงดูดความสนใจกับผู้คนที่ผ่านไปมา ทีมงานจึงได้จัดโครงการเพื่อปรับภูมิทัศน์ให้บริเวณคูน้ำโบราณดูสวยงาม โดยการสร้างจุดถ่ายรูปเช็คอินจากการปลูกต้นไผ่เพื่อสร้างให้เป็นอุโมงค์ต้นไผ่ แต่ก็ต้องใช้เวลารอต้นไผ่โต หรือการปรับภูมิทัศน์คูน้ำโบราณโดยการขุดลอกเพื่อเอาพืช วัชพืชต่างๆ ที่อยู่ในคูน้ำออก การสร้างทางเดินชมคูน้ำ ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่มาก ทีมงานจึงได้จัดโครงการนักเล่าเรื่องชุมชน นำคนในชุมชนมาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆในชุมชน ทั้งประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนเป็นอย่างไร ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนที่โดดเด่นมีอะไร โดยถ่ายทอดผ่านการจัดทำคลิปวิดีโอการนำเที่ยวตามจุดต่างๆ ของชุมชน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องราวของชุมชนให้คนภายนอกเข้าถึงได้ง่าย จากนั้นในอนาคตอาจมีการต่อยอดพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

– ปัญหาด้านงบประมาณในการจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของชุมชนไม่เพียงพอต่อการจะยกระดับชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ หากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวก็จะนึกถึงการไปเที่ยวชมสถานที่ที่หนึ่งเมื่อไปแล้วก็ต้องมีการถ่ายภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ หรือบอกเล่าบนโลกออนไลน์ มีจุดเช็คอินสวยๆ มีพื้นที่บริการเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ ที่พัก ห้องน้ำ ที่จอดรถ ของฝาก ร้านอาหาร ซี่งการจะสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ หรือการปรับปรุง ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ให้มีความสวยงามทางการท่องเที่ยว ล้วนจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาเป็นจำนวนมาก จากที่กล่าวมาข้างต้นจากสภาพพื้นที่ของชุมชนโบราณบ้านไทรโยงในปัจจุบัน หากจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ที่ผ่านไปมาให้แวะเข้ามาเที่ยวในชุมชนได้ด้วยคูน้ำโบราณ ก็จำเป็นจะต้องทำให้พื้นที่บริเวณคูน้ำมีความสวยงาม มีป้าย มีจุดเช็คอินที่มองเห็นได้จากภายนอกชุมชน แล้วดึงความสนใจให้คนแวะเข้ามาในชุมชนได้ ซึ่งอาจจะต้องรอต่อยอดในอนาคตต่อไป

– ปัญหาการประสานงานหาวิทยากรมาจัดการอบรม เป็นปัญหาในการจัดการอบรมครั้งที่ 1 เกี่ยวกับต้นไผ่ การปลูกต้นไผ่ เนื่องจากตอนแรกทีมงานได้ติดต่อวิทยากรท่านหนึ่งไว้ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับต้นไผ่เป็นอย่างดีว่าจะเชิญให้มาเป็นวิทยากรในการอบรมแล้วจะคุยรายเอียดการอบรมกันอีกครั้ง แต่เนื่องจากไม่สามารถจัดหาวันว่างที่ตรงกันได้จึงทำให้ทีมงานต้องหาเร่งหาวิทยากรคนใหม่มาแทน วิทยากรคนใหม่ก็มีอุปสรรคในการทำงานเรื่องของระยะทางเนื่องจากวิทยากรคนใหม่อยู่ต่างอำเภอกับทีมงาน จึงทำให้ไม่สะดวกเข้าไปพบเจอเพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับการจัดอบรมได้ แก้ปัญหาโดยการติดต่อกันผ่านทางไลน์ ทางเบอร์โทร แต่เนื่องจากวิทยากรคนใหม่มีประสบการณ์ทางด้านการเป็นวิทยากรมามากจึงทำให้คุยกันได้ง่าย เข้าใจการทำงานได้ง่าย

– อุปสรรคด้านสภาพอากาศในช่วงมรสุม ฝนตกบ่อย ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ หรือไม่สามารถจัดกิจกรรมกับชุมชนได้ วันไหนที่ฝนไม่ตกและสามารถลงพื้นที่ได้ก็จะพยายามเก็บข้อมูลชุมชนให้ได้มากที่สุด เพื่อชดเชยวันที่ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ หากวันที่ต้องจัดกิจกรรมกับชุมชนมีฝนตก ก็จะประสานกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งเลื่อนกิจกรรมเป็นวันอื่น หรือเลื่อนเวลาออกไปรอให้ฝนหยุดตกก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มจัดกิจกรรม ซึ่งทีมงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ใหญ่บ้านและคนในชุมชน

– อุปสรรคด้านระยะทางระหว่างหมู่บ้านที่ค่อนข้างอยู่ห่างกัน เช่น หมู่ 10 ที่อยู่ห่างจากหมู่ 3 หมู่ 19 ประมาณ 2 กิโลเมตรและระยะทางระหว่างคุ้มไพลของหมู่ 19 ประมาณ 3 กิโลเมตร เนื่องจากเส้นทางที่เดินทางไปแต่ละหมู่บ้านเป็นทางหลวงขนาดใหญ่มีรถสัญจรผ่านไปมามากมาย และสัญจรด้วยความเร็ว จึงทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทางไปแต่ละหมู่บ้าน

– อุปสรรคเรื่องสุนัข เนื่องจากในชุมชนมีบ้านที่เลี้ยงสุนัขอยู่มาก จึงทำให้เวลาเข้าไปเก็บข้อมูลตามบ้านเรือนต้องระมัดระวัง ในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลรายบุคคล รายครัวเรือนนั้น ดิฉันและทีมงานต้องเดินทางเข้าไปหาผู้คนในชุมชน เข้าไปเก็บข้อมูลตามบ้านเรือนแต่ละหลังซึ่งบ้านเรือนส่วนใหญ่จะเลี้ยงสุนัข ทำให้เวลาจะเข้าไปตามบ้านเรือนแต่ละต้องคอยตรวจดูว่ามีสุนัขหรือไม่ หรือถ้าเห็นว่ามีคนอยู่บริเวณบ้านก็จะถามก่อนว่าเข้าไปในบ้านได้ไหม มีสุนัขไหม ถ้าบ้านไหนมีสุนัขแล้วเราจะต้องเดินผ่านเข้าไปก็จะเดินเข้าไปอย่างระมัดระวัง ไม่วิ่งหนี หรือโวยวายทำเสียงดัง อีกวิธีเพื่อเช็คดูว่าสุนัขตัวนี้มีท่าทีจะเข้ามาทำร้ายเราไหม คือการทำเสียงเรียกสุนัข หากสุนัขแกว่งหางของมันไปมาแสดงว่ามันไม่ทำร้ายเรา ดิฉันและทีมงานมักจะใช้วิธีการเช็คท่าทีของสุนัขแบบนี้เสมอๆ ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร

จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้ได้รับประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย พบเจอผู้คนที่หลากหลาย เจอกับปัญหาอุปสรรคมากมาย และได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ในระยะเวลาที่เหลือของการทำงานอีก 3 เดือน ดิฉันและทีมงานก็จะได้ดำเนินการทำงานต่อไปอย่างเต็มที่ เพื่อให้งานเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่ตั้งใจเอาไว้ และมีประสิทธิภาพมากที่สุดต่อไป

แบบทดสอบ

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSd-8kk9lMuV0L185KvZOPsHnh8M776nWrR526yM1AQt6XYvYQ/viewform

คลิปวิดีโอ

 

อื่นๆ

เมนู