โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

หลักสูตร HS06-การสร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

       กิจกรรมในการลงพื้นที่ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้ร่วมกันประชุมออกความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นร่วมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์) กิจกรรมมีดังนี้

  • ลงพื้นที่ชุมชนบ้านบุขี้เหล็ก หมู่ที่ 6 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 เพื่อเก็บข้อมูลทั่วไปรายตำบล (ชุมชน) เพื่อนำไปจัดทำโครงงาน HS06 ในบทที่ 1 ประกอบด้วย ประวัติความเป็นมา ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ร้านค้า วัด โรงเรียน แหล่งน้ำ กลุ่มวิสาหกิจ และข้อมูลสมาชิกในชุมชน เป็นต้น จึงนำข้อมูลบางส่วนมาได้ดังนี้
  • ประวัติหมู่บ้านบุขี้เหล็ก

           เดิมปู่ย่าตายายประมาณ 10 ครัวเรือน มีครัวเรือน 1.ปู่โฮม อ่อนนวน 2.ปู่คล้าย ทราบรัมย์ 3.ปู่เข็ม สิรัมย์ 4.ปู่น้อย ละมุล 5.ปู่ดี แซกรัมย์ 6.ปู่บุตร แกล้วกล้า 7.ปู่บัว แกล้วกล้า 8.ปู่บุ้ง แกล้วกล้า 9.ปู่สาย กลอนวิรัตน์ 10.ปู่พรม เชือกรัมย์ ทั้งหมดย้ายมาจากบ้านทะเมนชัย ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชนเผ่าลาวโซ่งดำมาจากเวียงจันทน์ ได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน อยู่บริเวณบ้านบุขี้เหล็ก เดิมมีลักษณะเป็นทุ่งคล้ายหนองน้ำขนาดใหญ่เป็นป่าบุ มีต้นขี้เหล็กขึ้นอยู่เต็มบริเวณเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์มาก มีต้นขี้เหล็กขนาดใหญ่ต้นหนึ่งอยู่กลางทุ่งสามารถนำใบหรือยอดมาทำเป็นอาหารได้ ปู่ย่า ตายายจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านบุขี้เหล็ก    เมื่อปี พ.ศ. 2463 มีหนองน้ำใหญ่อยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งหมู่บ้าน ตั้งชื่อว่า หนองตลาดรัง ต่อมาปี      พ.ศ. 2466 ได้ตั้งวัดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เคารพบูชาทางพระพุทธศาสนา ตั้งชื่อวัดว่า วัดบ้านบุขี้เหล็ก ต่อมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาหาความรู้และได้ตั้งชื่อว่าโรงเรียนวัดบ้านบุขี้เหล็ก พร้อมกับได้สร้างถนนเพื่อใช้ในการสัญจรไปมา ได้ตั้งชื่อถนนสายแรกนี้ว่า ถนนธรรมวงษ์

      เดิมมีหัวหน้าหมู่บ้านและยังไม่มีการตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน

หัวหน้าหมู่บ้านชื่อ  นายโฮม   อ่อนนวน

ต่อมาทางราชการประกาศให้มีการตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้น ผู้ใหญ่บ้านบุขี้เหล็ก หมู่ที่ 6 (ต.ทะเมนชัย เดิม)

  1. นายสาย กลอนวิรัตน์
  2. นายทึก ​ ละมุล
  3. นายอุ่น ​ ละมุล
  4. นายศูนย์ แสนเมือง
  5. ​นายขาว  ​ เชือกรัมย์
  6. นายเพชร แกล้วกล้า
  7. ​ นายปิน​   ละมุล
  8. ​นายดี ​  เชือกรัมย์
  9. นายปลื้ม​ แสนเมือง
  10. นายอุดม​   ศรีพิษ
  11. นายอุไร​   เชือกรัมย์
  • ได้แยกพื้นที่การปกครองออกจากตำบลทะเมนชัยมาเป็นตำบลแสลงพันและได้แยกหมู่บ้านออกจากหมู่ 6 เป็นหมู่ที่ 11 บ้านบุขี้เหล็กใหม่ ตำบลแสลงพัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2526  และได้แยกหมู่บ้านออกจากหมู่ที่ 11 เพิ่มมาเป็นหมู่ที่ 17 ชื่อบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา ตำบลแสลงพัน เมื่อวันที่  15 ธันวาคม พ.ศ. 2549
  •  มีจำนวนประชากร (ตุลาคม 2558)    ชาย 458 คน  หญิง 489 คน รวม 947 คน 270 ครัวเรือน

หลังจากเก็บข้อมูลทั่วไปของบ้านบุขี้เหล็ก หมู่ที่6 เรียบร้อย ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้รับมอบหมายงานให้ช่วยกันลงพื้นที่ตำบลแสลงพัน เพื่อทำการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม U2T-SROI เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 โดยแบ่งหน้าที่นำแบบสอบถามที่ได้ไปมอบให้กลุ่มเป้าหมายในตำบลแสลงพัน ตามที่ตนได้รับมอบหมาย ได้แก่ กลุ่มตำบลเป้าหมาย มอบให้ตัวแทนกลุ่มโรงเรือนทั้ง 3 โรงเรือน ,กลุ่มลูกจ้างโครงการ มอบให้ตัวแทนนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชน , กลุ่มครอบครัวลูกจ้างโครงการ, กลุ่มชุมชนภายใน, กลุ่มชุมชนภายนอก, กลุ่มผู้แทนตำบล, กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ, กลุ่มอปท. และกลุ่มเอกชนในพื้นที่

  • เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ตัวแทนทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่โรงเรือนเพาะเห็ดบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา หมู่ที่ 17 เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับก้อนเชื้อเห็ด พบว่าเกิดเชื้อราดำภายในก้อนเห็ดเป็นจำนวนมากส่งผลให้ได้ผลผลิตน้อย ทางทีมงานจึงดำเนินการแก้ไข ดังนี้
  1. ทำการนำก้อนเชื้อเห็ดทั้งหมดลงจากชั้นวางเพื่อตรวจสอบการเดินของเชื้อราว่ามีจำนวนมากหรือน้อย
  2. คัดแยกก้อนเชื้อเห็ดที่มีปัญหาน้อยสุดออกจากกัน
  3. ทำการกระตุ้นก้อนเชื้อเห็ดอีกครั้งโดยการนำเชื้อราดำออกให้ได้มากที่สุด
  4. นำเชื้อราดำออกแล้ว ทำการเรียงบนชั้นวางตามเดิม
  • วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ได้ติดตามผลการแก้ไขปัญหา หลังจากแก้ไขปัญหาเชื้อราดำครบ 1 สัปดาห์ พบว่ามีเห็ดเกิดขึ้นจำนวนมากการเดินของเชื้อเห็ดดีขึ้น พร้อมทั้งมีชาวบ้านเดินทางมาซื้อเห็ดถึงที่ ซึ่งได้เห็ดจำนวน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
  • และในวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ได้มีการจัดอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์) ในช่วงเช้าจัดอบรม ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านแสลงพัน หมู่ที่ 7 และช่วงบ่ายจัดอบรม ณ ศาลากลางบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา หมู่ที่ 17 โดยผู้เข้าอบรมครั้งนี้ได้แก่ ทีมผู้ปฏิบัติงาน อาจารย์ประจำหลักสูตร และตัวแทนชาวบ้านในชุมชนของตำบลแสลงพัน ชุมชนละ 2 คน เนื้อหาการอบรมมีดังนี้
  1. อาจารย์ประจำหลักสูตรชี้แจงกิจกรรมระยะที่ 1 การเพาะเห็ดที่ได้ดำเนินการไปแล้ว มี 3 โรงเรือน ได้แก่ โรงเรือนบ้านหนองตาดตามุ่ง หมู่ที่ 5,โรงเรือนบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา หมู่ที่ 17 และโรงเรือนบ้านบุก้านตงพัฒนา หมู่ที่ 16 และชี้แจงกิจกรรมระยะที่ 2 การผลิตปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ
  2. มอบหมายและขอความร่วมมือสมาชิกกลุ่มเป้าหมาย/กลุ่มจิตอาสาทำน้ำหมักชีวภาพใช้เองในครัวเรือนโดยนำเศษอาหารที่เหลือในแต่ละวันมาทำเป็นน้ำหมัก,มอบวัสดุสำหรับจัดทำน้ำหมักชีวภาพ ได้แก่ ถังหมัก
  3. ชี้แจงกิจกรรมการประกวดชุมชน/ครอบครัวต้นแบบการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
  4. สอบถามความต้องการเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวว่าต้องการปลูกชนิดใด เพื่อนำไปปลูกทานเอง เน้นการใช้น้ำหมักชีวภาพ ปลอดสารพิษ เพื่อลดรายจ่าย เป็นต้น

จากการลงพื้นที่ร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกันในครั้งนี้ สรุปได้ว่า

  1. โรงเรือนเพาะเห็ดบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา เกิดเชื้อราดำขึ้นที่ก้อนเห็ดส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง เห็ดไม่งอก ทางทีมงานจึงลงพื้นที่เพื่อทำการแก้ไข หลังจากแก้ไขแล้ว พบว่าเชื้อเห็ดเดินได้ดีขึ้น เห็ดงอกออกมากขึ้นจากเดิม แต่เชื้อราก็ยังมีเหลือบ้างเนื่องจากบางก้อนมีเชื้อราเกิดขึ้นเต็มก้อน ไม่สามารถนำออกมาได้หมด
  2. การจัดอบรมในครั้งนี้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์) เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงบ่ายมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้การเข้าร่วมอบรมในช่วงบ่าย ชาวบ้านเดินทางมาอบรมจำนวนน้อยไม่ครบทุกชุมชน ทำให้ไม่ได้รับวัสดุจากการอบรมครั้งนี้ จึงแก้ไขโดยการนำวัสดุไปมอบให้ตัวแทนชุมชนด้วยตัวเอง และจะมีการจัดอบรมขึ้นอีกครั้งในครั้งถัดไป
  3. การจัดอบรมในครั้งถัดไปจะดำเนินการติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงาน และให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ พร้อมมอบวัสดุพัฒนากิจกรรม ได้แก่ น้ำตาลทรายแดง EM ถุงปลูก เมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ เช่น ผงชูรส เครื่องดื่มชูกำลัง ไข่ไก่ เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ
  4. และมีการจัดประกวด มอบรางวัล ชุมชน/ครอบครัวต้นแบบ เพื่อขยายเครือข่าย ส่งมอบความรู้สู่ชุมชน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบนฐานกิจกรรมการประยุกต์ใช้เศษวัสดุเหลือใช้

 



อื่นๆ

เมนู