ข้าพเจ้านางสาวมณีรัตน์ พลอยเพ็ชร์ ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตรการบริหารจัดการขยะและการเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชน (MS03) ได้ออกแบบและแปรรูปกระป๋องเครื่องดื่มให้เป็นตะกร้าสินค้า โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะ ให้ชุมชนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางเพื่อสร้างรายได้ จากการดำเนินงานตลอดทั้งเดือน สามารถถอดบทเรียนออกมาได้ดังนี้

 

วัสดุสำรับทำตะกร้า

  1.  กระป๋องเครื่องดื่ม – ช่วยให้ตัวตะกร้ามีความเหนียว ไม่สามารถดึงให้ขาดได้
  2. กระดาษแข็ง – ช่วยเสริมให้กระป๋องแข็งแรงอยู่ทรง
  3. เสื่อน้ำมัน – เพื่อเป็นลวดลายภายในตะกร้า
  4. กาวยาง – สำหรับติดกระป๋อง กระดาษแข็ง และ เสื่อน้ำมันเข้าด้วยกัน
  5. ลวด – เพื่อเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างหลัก
  6. ลวดสี/ลวดริบบิ้น – สำหรับร้อยชิ้นส่วนตะกร้าเข้าด้วยกัน
  7. ตาไก่ – สำหรับติดสายของตะกร้าเข้ากับตัวตะกร้า

 

อุปกรณ์

  1. เครื่องเขียน – สำหรับวาดแบบและทำเครื่องหมายตำแหน่งที่ต้องการเจาะ
  2. ไม้บรรทัดและไม้ฉากสามเหลี่ยม – สำหรับวาดแบบ
  3. คีมช่วยดึง – เพื่อช่วยดึงลวดตอนร้อยชิ้นส่วนให้แน่นยิ่งขึ้น
  4. คีมตัดลวด – สำหรับตัดลวดที่นำมาเสริมโครงสร้าง
  5. กรรไกรและมีดคัตเตอร์ – สำกรับตัดกระป๋อง กระดาษ และ เสื่อน้ำมัน
  6. อุปกรณ์สำหรับเจาะกระดาษ – สำหรับเจาะรูเพื่อร้อยโครงสร้าง
  7. ค้อน – สำหรับช่วยเจาะรู และ ใส่ตาไก่

 

ขั้นตอนการดำเนินงาน

  1. วาดแบบลงบนกระดาษแข็งแล้วตัดให้เป็นรูปร่างตามแบบ
  2. ตัดส่วนฝาด้านบนและด้านล่างของกระป๋อง แล้วผ่าแผ่นกระป๋องออก
  3. ติดกระป๋องและเสื่อน้ำมันบนกระดาษแข็งที่ตัดเตรียมไว้ เมื่อกาวแห้งให้เจาะรูสำหรับร้อย
  4. ใช้ลวดริบบิ้นร้อยชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน โดยใช้คีมช่วยดึงเพื่อให้แน่นขึ้น
  5. ตัดลวดให้พอดีกับปากตะกร้า ก้นตะกร้า และ สายตะกร้า แล้วใช้ลวดริบบิ้นพันลวดเข้ากับแต่ละชิ้นส่วนเพื่อเสริมความแข็งแรง
  6. ประกอบชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน

 

ปัญหาที่พบและแนวทางการแก้ปัญหา

  1. ความหนาของกระดาษ
    • กระดาษหนาเกินไปจะทำให้ต้องใช้มีดคัดเตอร์ใบใหม่ๆในการตัด ไม่สามารถใช้กรรไกรตัดแต่งทรงได้ การตัดชิ้นส่วนที่มีความโค้งจึงเป็นไปได้ยาก
    • การใช้ตุ๊ดตู่ในการเจาะรูจะช่วยให้ตำแหน่งของรูสำหรับร้อยเรียงตัวสวยงาม แต่ถ้ากระดาษหนาเกินไปจะไม่สามารถใช้ตุ๊ดตู่ได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องเจาะกระดาษขนาดใหญ่แทน ทำให้สามารถเล็งตำแหน่งได้ยาก รูที่เจาะอาจเบี้ยวได้
    • ถ้ากระดาษหนาเกินไปจะขึ้นรูปสำหรับทรงโค้งได้ยาก
    • ถ้ากระดาษบางเกินไปอาจทำให้ตะกร้าไม่อยู่ทรง
      ดังนั้นควรระวังเรื่องการเลือกความหนาของกระดาษ โดยควรเลือกกระดาษแข็งเทา เบอร์ 20-24
  2. การร้อยชิ้นส่วนเข้าด้วยกันด้วยลวดริบบิ้น
    • แรงดึงไม่มากพอ ทำให้รอยต่อหลวมเกินไป โครงของตะกร้าจึงขาดความแข็งแรง
    • ถ้าใช้คีมช่วยดึง ต้องระวังความคมของปากคีม เพราะอาจทำให้ลวดริ้บบิ้นขาดได้ดังนั้นควรใช้คีมช่วยดึงเป็นบางช่วงเพื่อช่วยให้รอยต่อแน่นและแข็งแรง แต่ขณะดียวกันต้องระวังด้วยว่าไม่ได้ใช้แรงมากจนเกินไป
  3. รอยต่อของลวดที่ช่วยเสริมโครงสร้าง
    • มีการซ้อนกันของลวดบริเวณรอยต่อ ทำให้ขาดความเรียบร้อยสวยงานของผลิตภัณฑ์
    • มีการเว้นปลายของหูตะกร้า ทำให้ขอบลวดที่ยังคงมีความคมโผล่ออกมา

ดังนั้น ควรวัดและตัดลวดให้ชนกันพอดี เพื่อไม่ให้เกิดการซ้อนและข่วงว่างระหว่างลวด

 

ซึ่งการถอดบทเรียนเหล่านี้จะนำไปถ่ายทอดแก่ชุมชนในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564

 

 

อื่นๆ

เมนู